Gartner เผยเส้นทาง Net Zero สู่ Sustainable IT เพื่อลดการปล่อยมลพิษภายในปี 2050

Gartner

การ์ทเนอร์ (Gartner) เผยเส้นทาง Net Zero สู่ ไอทีที่เป็นมิตรต่อโลก (Sustainable IT) เพื่อลดการปล่อยมลพิษภายในปี 2050…

Gartner เผยเส้นทาง Net Zero สู่ Sustainable IT เพื่อลดการปล่อยมลพิษภายในปี 2050

Gartner
ออทัมน์ สแตนนิช ผู้อำนวยการฝ่ายนักวิเคราะห์ ของ การ์ทเนอร์

ออทัมน์ สแตนนิช ผู้อำนวยการฝ่ายนักวิเคราะห์ ของ การ์ทเนอร์ กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังมุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้าง Net Zero Economy โดยมีเป้าหมายหลัก คือ บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 รวมทั้งปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 

นอกจากนี้ได้มีการปรับเป้าหมาย NDC ให้เข้มงวดขึ้นเพื่อลดการปล่อยมลพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 30-40% ภายในปี 2030 ซึ่งองค์กรต่าง ๆ ในไทยต้องคำนึงถึงพันธกรณีด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในปัจจุบัน และอนาคต

เนื่องจากการใช้พลังงานไปกับกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้าน ICT (เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร) พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ภาระผูกพันเหล่านี้จึงมีความสำคัญมากขึ้น ข้อมูลจากองค์กรวิจัยด้านเซมิคอนดักเตอร์ (SRC) และสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ระบุว่าตอนที่องค์กรเพิ่งเริ่มต้นยุคดิจิทัลเมื่อทศวรรษ 2010 นั้น

งานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ICT ใช้พลังงานทั่วโลกแค่ 0.1% แต่คาดว่าภายในปี 2030 จะพุ่งไปถึง 6.4% เพราะเทรนด์ AI, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ดาต้า ชิป และเซ็นเซอร์ รวมถึงสิ่งอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

หลายองค์กรมักมองข้ามผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล แต่แท้จริงแล้ว Sustainable IT หรือ ไอทีที่เป็นมิตรต่อโลกคือหัวใจสำคัญเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก (GHG) การบริหารจัดการการใช้น้ำ การจัดการขยะ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับความหลากหลายทางชีวภาพ

แผนแม่บทสำหรับไอทีที่ยั่งยืนเป็นความจำเป็นเพื่อช่วยให้ผู้บริหารฝ่ายจัดการโครงสร้างพื้นฐาน และฝ่ายปฏิบัติการ (I&O) บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนขององค์กร แม้ว่าพวกเขาจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้ในช่วงทศวรรษ 2020 แต่เทคโนโลยีที่อยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาจะช่วยเร่งความคืบหน้าในช่วงทศวรรษ 2030 

เป้าหมายขององค์กร คือการ Bend the Curve หรือการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขปัญหาไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ที่ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากไอทีให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นก็ตาม

การประเมินค่าพื้นฐานของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก GHG ของไอที และแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของ GHG เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ผู้บริหารฝ่าย I&O ควรวางแผนพัฒนากลยุทธ์ Sustainable IT ให้ครอบคลุมทั้งดาต้าเซ็นเตอร์ คลาวด์ ดิจิทัลเวิร์กสเปซ และแผนส่งเสริมการตัดสินใจด้านข้อมูลและซอฟต์แวร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ดาต้าเซ็นเตอร์ และคลาวด์ (Data Center & Cloud)

Gartner

องค์กรส่วนใหญ่มีสภาพแวดล้อมแบบไฮบริดคลาวด์ ซึ่งรวมถึง พับลิกคลาวด์ (Public Cloud), ไพรเวทคลาวด์ (Private Cloud) และดาต้าเซ็นเตอร์ (Data Center) ภายในองค์กร ทำให้มีโอกาสมากมายที่จะทำให้ ไฮบริดคลาวด์ (Hybrid Cloud) ยั่งยืนยิ่งขึ้น

สำหรับองค์กรที่เพิ่งเริ่มต้นแนวคิดความยั่งยืน การดำเนินการในศูนย์ข้อมูลภายในองค์กร ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ได้แก่ การตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น การจัดการเวิร์กโหลดที่ไม่จำเป็น การใช้พลังงานสำหรับการประมวลผล และจัดเก็บข้อมูลอย่างคุ้มค่า การกำจัดอุปกรณ์ที่ไม่ได้ใช้งานหรืออุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต

ที่ถูกแฮกเกอร์โจมตีผ่านไวรัสคอมพิวเตอร์ ที่เรียกว่า อุปกรณ์ซอมบี้ (Zombie Equipment) แม้จะมีอีกหลายวิธีที่จะช่วยปรับปรุงความยั่งยืนของดาต้า เซ็นเตอร์ แต่สิ่งที่ดีที่สุดที่องค์กรสามารถทำได้ในตอนนี้คือ การเปลี่ยนจาก “ประสิทธิภาพของอุปทาน-Efficiency of Supply”

ไปเป็น “การจัดการกับอุปสงค์-Demand Management” กล่าวอีกนัยหนึ่งคือการเปลี่ยนจากระบบที่เปิดอยู่ตลอดเวลา ไปเป็นระบบพร้อมใช้งานตลอดเวลา เพื่อสร้างสมดุลระหว่างความต้องการเวิร์กโหลด และการกำกับดูแลข้อมูล หรือ Data Governance

ไม่มีองค์กรใดย้ายไปใช้คลาวด์ด้วยเหตุผลเพียงเพื่อความยั่งยืน แต่ผู้บริหารบางรายกำลังเร่งการย้ายข้อมูลขึ้นไปบนคลาวด์ เนื่องจากมีศักยภาพอย่างมากในการลดก๊าซเรือนกระจก ภายใต้เงื่อนไขบางประการ ซึ่งองค์กรเหล่านี้สามารถลดการปล่อยก๊าซได้มากถึง 70% ในระยะยาว

โดยการย้ายจากศูนย์ข้อมูลภายในองค์กรไปใช้บริการพับลิกคลาวด์สาธารณะแม้ว่าผู้ให้บริการจะมีหน้าที่ในการทำให้คลาวด์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่การใช้คลาวด์อย่างยั่งยืนก็เป็นความรับผิดชอบขององค์กรเช่นกัน

ดิจิทัลเวิร์กสเปซ (Digital Workspace)

Gartner

ดิจิทัลเวิร์กสเปซเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญที่สุด เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าอื่น ๆ ซึ่งการปล่อยมลพิษเกิดขึ้นตั้งแต่แหล่งกำเนิดไปจนถึงกระบวนการต่าง ๆ (ตั้งแต่การผลิตถึงการจัดจำหน่าย) ตลอดจนการใช้เทคโนโลยี ผู้บริหารด้านการปฏิบัติงานและเทคโนโลยี (I&O) 

สามารถยกระดับความยั่งยืนของดิจิทัลเวิร์กสเปซได้ด้วยการยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ โดยซื้ออุปกรณ์ที่ผ่านการปรับสภาพ (Refurbished) และตั้งค่าอุปกรณ์ให้อยู่ในโหมดประหยัดพลังงานโดยอัตโนมัติ แต่ฝ่าย IT มีหน้าที่เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น พนักงานเองก็จำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการลดดิจิทัลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของตนเองด้วย

การยกระดับความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อมของพนักงานถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ เนื่องจากพนักงานส่วนใหญ่มักมองข้ามผลกระทบที่ตนเองมีต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ไอที ไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม แต่เนื่องจากไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง

ดังนั้นการสร้างประสบการณ์การทำงานดิจิทัลที่ยั่งยืนจึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งต้องมุ่งเน้นไปที่การเสริมความรู้ให้พนักงานสามารถใช้เทคโนโลยีในรูปแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

ข้อมูล (Data)

Gartner

แม้ว่าผู้บริหารฝ่าย I&O จะไม่ได้มีหน้าที่โดยตรงในการบริหารจัดการดาต้าขององค์กร แต่ว่าพวกเขามีบทบาทสำคัญในการประเมินผลกระทบของดาต้าต่อพื้นที่จัดเก็บข้อมูลภายในดาต้าเซ็นเตอร์ โดยการทำงานร่วมมือกับผู้บริหารฝ่ายวิเคราะห์ และจัดการข้อมูล หรือ D&A พวกเขาสามารถช่วยออกแบบวิธีลดการใช้พื้นที่จัดเก็บข้อมูลที่ไม่จำเป็น

รวมถึงยกระดับประสิทธิภาพการจัดเก็บข้อมูล เพื่อลดผลกระทบต่อความยั่งยืนในภาพรวม ข้อมูลเปรียบเสมือนทรัพย์สินที่สร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง (Competitive Differentiation) แต่ในขณะเดียวกัน ข้อมูลเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น

ปัญหานี้ยิ่งทวีความรุนแรงเมื่อข้อมูลถูกส่งผ่านเครือข่าย การเคลื่อนย้ายข้อมูลภายในเครือข่าย การเข้าออกคลาวด์ ล้วนใช้พลังงานมหาศาล การย้ายข้อมูลไปบนคลาวด์ ไม่ใช่การแก้ปัญหาข้อมูลอย่างยั่งยืน วิธีที่ยั่งยืนกว่า คือ การแก้ไขที่ต้นเหตุด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการเคลื่อนย้ายข้อมูล

การลบข้อมูลที่ซ้ำซ้อนหรือข้อมูลที่ไม่ได้ใช้งานนานแล้ว การจัดเก็บข้อมูลกับผู้ให้บริการคลาวด์ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเดียวกับผู้ใช้ และเหตุผลอื่น ๆ 

ซอฟต์แวร์ (Software)

Gartner

เรื่องของความยั่งยืนไม่ได้หยุดอยู่แค่ที่ฮาร์ดแวร์เท่านั้น ซอฟต์แวร์เองก็มีจุดด้อยในเรื่องประสิทธิภาพที่มักจะส่งผลกระทบไปยังทีมฮาร์ดแวร์ด้วยเช่นกัน โดยซอฟต์แวร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะเน้นเรื่องการประหยัดพลังงาน และสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังเป็นหัวข้อที่ซับซ้อนมาก

โดยมีประเด็นย่อยที่ต้องคำนึง อาทิ การออกแบบระบบใหม่ให้คำนึงถึงความยั่งยืน การหาพันธมิตรทางธุรกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืน บริการโฮสต์ข้อมูลที่คำนึงถึงความยั่งยืนจากคลาวด์ และศูนย์ข้อมูล รวมทั้งผู้ให้บริการพลังงานไฟฟ้าที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ หรือปลอดคาร์บอน การรันซอฟต์แวร์อย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืน ต้องคำนึงถึง

ทั้งสถานที่ เวลา และฮาร์ดแวร์ที่ประหยัดพลังงาน ความเข้มของคาร์บอนในระบบไฟฟ้าของแต่ละพื้นที่นั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ ประเทศ หน่วยงานที่ผลิตไฟฟ้า เวลา สภาพอากาศ ข้อตกลงในการซื้อขาย หรือ ถ่ายโอนไฟฟ้า เทคโนโลยีที่ใช้ผลิตไฟฟ้า แหล่งพลังงาน และยังมีอีกหลาย ๆ ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ยิ่งซอฟต์แวร์ทำงานใกล้ชิดกับฮาร์ดแวร์มากเท่าไหร่ ประสิทธิภาพก็ยิ่งดีขึ้นเท่านั้น วิธีการพัฒนาซอฟต์แวร์มักจะมุ่งเน้นไปที่การย้ายออกจากฮาร์ดแวร์ ซึ่งช่วยให้การพัฒนาแอปพลิเคชันซอฟต์แวร์ที่ซับซ้อนง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ส่งผลให้ฮาร์ดแวร์ต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อใช้พลังงานในการทำงานมากขึ้น

ส่วนขยาย

* บทความเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์ในมุมมองที่น่าสนใจ 
** เขียน: ชลัมพ์ ศุภวาที (บรรณาธิการ และผู้สื่อข่าว) 
*** ขอขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก N/A

สามารถกดติดตามข่าวสาร และบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่  www.facebook.com/itday.in.th

ITDay