เผยแนวคิดสู้ชีวิต “ลุงพันธ์” หลังไม่ยอมแพ้สังขารในวัย 65 และวิฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ลุกขึ้นมาขับ “แกร็บ” (Grab) ส่งอาหาร เพื่อสร้างรายได้เลี้ยงชีพ…
ข้อคิดดี ๆ จากหนุ่มใหญ่วัย 65 กับอาชีพขับ “แกร็บ” (Grab) ส่งอาหาร
การแพร่ระบาดของ โควิด–19 นับได้ว่าเป็นวิกฤติครั้งสำคัญของประเทศที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนมากมาย คนกรุงส่วนใหญ่ได้เรียนรู้ที่จะปรับตัว และใช้ชีวิตในรูปแบบของ การทำงานจากบ้าน (Work from Home) ทว่าสำหรับใครอีกหลายๆ คน กลับไม่ได้โชคดีอย่างนั้น
ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดที่ทำให้ภาคธุรกิจต้องหยุดชะงักเช่นนี้ ยังมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ต้องหถูกพักงาน และบางคนก็ไม่มีงานให้กลับไปทำอีกแล้ว ใครที่กำลังสิ้นหวังกับสภาวการณ์ที่ไม่แน่นอนอยู่นั้น เราอยากให้ท่านลองฟังแง่คิดและแรงบันดาลใจดี ๆ จากนักสู้ชีวิตผู้ไม่ยอมแพ้กับโชคชะตา อย่างเช่น “ลุงพันธ์” คนนี้
โอกาสมีอยู่ทุกที่
“ลุงพันธ์” หรือ จักรพันธ์ ช้อยสุชาติ วัย 65 ปี เคยคิดว่าหนทางข้างหน้าช่างริบหรี่เมื่อถึงวัยเกษียณ ด้วยงานรับจ้างอิสระเป็นคนคุมงานก่อสร้าง ทำให้มีรายได้ที่ไม่แน่นอนมาโดยตลอด ทำให้ชีวิตหลังเกษียณไม่ได้มีเงินเก็บมากนัก
และเงินสนับสนุนเพียงเดือนละหกร้อยบาทที่ได้รับจากภาครัฐก็ไม่เพียงพอที่จะจุนเจือครอบครัว จนกระทั่งตัดสินใจมาทำงานเป็นพนักงานส่งอาหารผ่านแกร็บตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่ผ่านมา
จักรพันธ์ ช้อยสุชาติ เปิดเผยว่า ผมทำงานบ้านอยู่บ้านเฉย ๆ หลายปี ลำบากแล้วก็รู้สึกเบื่อมาก เพราะอาชีพรับจ้างที่เคยทำนั้นไม่ได้ให้รายได้ที่สม่ำเสมอ พอเกษียณออกมาเลยกลายเป็นว่าหน้าที่หารายได้หลักตกเป็นของภรรยา พอดีมีคนรู้จักขับแกร็บอยู่
เขาบอกว่าผมสามารถสมัครผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ก็เลยลองดู โชคดีที่แกร็บไม่มีการกำหนดอายุของพาร์ทเนอร์คนขับ ผมเลยได้โอกาสกลับมาทำงานอีกครั้ง จนตอนนี้ก็ขับมาได้ 6-7 เดือนแล้ว ก็ดีนะ ได้ออกมาข้างนอกทุกวันทำให้ผมไม่เหงา แถมยังมีรายได้มาเลี้ยงครอบครัวเพิ่มขึ้นด้วย
โดยช่วงที่เริ่มทำงานใหม่ๆ รายได้ค่อนข้างดี โดยลุงมักจะขี่รถส่งอาหารบริเวณห้างเซ็นทรัล พลาซ่า เวสต์เกต ไปให้กับลูกค้าบริเวณใกล้เคียงในทุก ๆ วัน ตั้งแต่เจอกับโรคระบาดโควิด-19 รายได้ก็ตกลงไป ถึงแม้ว่ายังมีลูกค้าสั่งอยู่สม่ำเสมอ
แต่ตอนนี้มีคนมาขี่แกร็บส่งอาหารมากขึ้น ทำให้ต้องกระจายรายได้กันไป ทุกวันนี้ผมขับวันละประมาณ 10 เที่ยว ก็มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 500-600 บาทต่อวัน ถือว่าน้อยลง แต่ก็เข้าใจได้นะ เราต้องแบ่ง ๆ กันไป
ไม่มีใครแก่เกินจะเรียนรู้
ด้วยเป็นคนที่ชอบเล่นโซเชียลมีเดีย และชอบเข้าไปอ่านข่าวสารจากโลกออนไลน์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทำให้เขาหมั่นศึกษาวิธีใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่นี้อยู่เสมอ ตอนที่คิดอยากจะลองขี่รถส่งอาหารผ่านแกร็บ ก็ไม่รู้สึกกลัวเท่าไรนะ ผมเข้าไปดูในเว็บไซต์เขาแล้วก็ลองสมัครออนไลน์ดู ตอนแรกก็กังวัลนิดหน่อยว่าแอปจะใช้ยากไหม
แต่จริง ๆ แล้วไม่ยาก ง่ายพอๆ กับเล่นโซเชียลเลย แล้วก็มีคนมาช่วยสอนใช้ด้วย เลยทำให้ผมสามารถใช้งานเองได้อย่างรวดเร็ว ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญคือ ถึงแม้ว่าเรื่องเทคโนโลยีดูเหมือนจะเป็นเรื่องใหม่เรื่องยาก
แต่ถ้ากล้าจะลองเรียนรู้ คุณจะรู้ว่าไม่มีอะไรยาก แล้วการที่ออกมาวิ่งนี่ก็ยังทำให้ผมได้พบเจอกับมิตรภาพดี ๆ เวลาไม่รู้อะไรก็ถาม มีแต่คนคอยช่วยเหลือสอนงาน
สู้สุดใจ ไม่ไหวก็พัก
แม้จะอยู่ในวัย 65 ปี แต่อายุก็ไม่ใช่อุปสรรค ลุงพันธ์ยังคงออกมาวิ่งงานหกวันต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 10 โมงเช้าถึงสองทุ่ม โดยเหลือวันหยุดประจำสัปดาห์ไว้หนึ่งวันเพื่อดูแลทำงานบ้าน ผมพยายามไม่หักโหม วิ่งเท่าที่ร่างกายเราไหว อายุเราไม่ใช่น้อยแล้ว แถมสุขภาพก็ไม่ดีเหมือนก่อน เราจึงต้องรู้จักประมาณกำลังของตัวเอง สำหรับผมที่ออกไปขับ
รถเกือบทุกวัน ผมพยายามหาเวลาให้ตัวเองพักระหว่างวัน อย่างช่วงที่ยุ่งมากๆ เหมือนช่วงนี้ กว่าจะได้กินข้าวกลางวันบางทีก็ปาเข้าไปสี่โมงเย็นแล้ว แต่เมื่อถึงเวลาต้องกินก็จะพักเลย
นอกจากนั้นแล้วก็ต้องมีวันหยุดพักผ่อนให้ตัวเอง เวลาพักผ่อนผมก็จะออกกำลังกาย ไม่ก็ทำงานบ้าน การซักผ้า หรือกวาดถูกบ้านก็ถือว่าเป็นการออกกำลังกายอย่างหนึ่ง
รู้จักให้กำลังใจตัวเอง
ลุงพันธ์เคยต้องอยู่บ้านเฉยๆ เป็นเวลาอยู่หลายปี คุณลุงเล่าว่าช่วงเวลานั้นนับได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก ด้วยปัญหาสุขภาพและรายได้ที่หดหาย รวมถึงการอยู่บ้านเฉย ๆ ทำให้จมอยู่กับความคิดของตนเอง สิ่งสำคัญที่ผมอยากจะบอกทุกคนก็คือ ต้องระวังความคิดของตัวเองให้ดี อย่าปล่อยให้ความคิดหรือความเครียดบอกเราว่า
เราคือคนไร้ค่า หมดประโยชน์ ไม่อย่างนั้นคุณจะจมดิ่งเลยนะ เมื่อไหร่ที่ตัวเองกำลังคิดอย่างนั้น ให้ลุกออกมา หาอะไรก็ได้ทำ ออกมาเจอคนอื่น เจอโลกข้างนอกบ้าง สำหรับผมของขวัญที่มากกว่ารายได้ ก็คือการที่ได้ออกมาพบกับลูกค้า กับเพื่อนร่วมอาชีพที่คอยให้มิตรภาพ ให้กำลังใจกัน ซึ่งช่วยได้มาก
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นช่วงเวลาที่ไม่เคยมีใครพบเจอมาก่อน ไม่มีใครรู้ว่าหนทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไรต่อไป หรือจะจบเมื่อไหร่ หากแต่สิ่งที่สำคัญในตอนนี้คือ “หัวใจ” ของทุกคนที่ต้องต่อสู้อย่างไม่ท้อถอย เพราะถึงอย่างไรชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป แล้ว #เราจะผ่านมันไปด้วยกัน
ส่วนขยาย * บทความเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์ในมุมมองที่น่าสนใจ ** เขียน: ชลัมพ์ ศุภวาที (บรรณาธิการ และผู้สื่อข่าว) *** ขอขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก www.pexels.com
สามารถกดติดตามข่าวสารและบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่ www.facebook.com/itday.in.th