เอ็นที (NT) เผยผลประกอบการครึ่งแรกปี 66 ขาดทุน 638 ล้าน เล็งปรับโครงสร้างองค์กรต่อเนื่อง ลดความซ้ำซ้อนในด้านการลงทุน และใช้ศักยภาพที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยเฉพาะในด้านโครงข่าย สินทรัพย์ และบุคลากร เพื่อนำเสนอเทคโนโลยี และโซลูชั่นการให้บริการโครงสร้างโทรคมนาคม และดิจิทัล ขับเคลื่อนระบบงานภาครัฐไปสู่รัฐบาลดิจิทัล…
NT เผยผลประกอบการครึ่งแรกปี 66 ขาดทุน 638 ล้าน เล็งปรับโครงสร้างองค์กร “ลดความซ้ำซ้อน และใช้ศักยภาพที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด“
พันเอก สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที (NT) กล่าวว่า ปัจจุบัน เอ็นที ยังคงอยู่ในกระบวนการหลอมรวมศักยภาพของ 2 องค์กร คือ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ ทีโอที (TOT) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคท (CAT)
ให้สมบรูณ์มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ โดยภายหลังจากการควบรวมกันของทั้ 2 องค์กร เอ็นที เล็งเห็นถึงความซ้ำซ้อนในด้านการลงทุน และการใช้โครงข่าย สินทรัพย์ และร่วมถึงในด้านของบุคลากรของทั้ง 2 องค์กร เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ของการแข่งขันของธุรกิจในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในเวลานี้อยู่ในช่วงขาลงอย่างต่อเนื่อง
ทำให้วันนี้ เอ็นที มีความจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าปรับโครงสร้างขององค์กรอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าการปรับใช้ที่ดินที่มีกว่า 2,400 ไร่ทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดการนำมาใช้ประโยชน์สูงสุด หรือแม้แต่กการปรับลดจำนวนบุคลากรให้อยู่ในจำนวนที่เหมาะสมจากแผน 5 ปี ให้เหลือ 7,000 คน ภายในปี 2570
ทั้งนี้ก็เพื่อทำให้เกิดความมีเสถียรภาพในการดำเนินกิจการ และสามารถผลักดันนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการขับเคลื่อนระบบงานภาครัฐไปสู่รัฐบาลดิจิทัล พร้อมกับการพัฒนา และขยายบริการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม และดิจิทัลผ่านสถานะความเป็นกลาง
โดยผลประกอบการครึ่งปีแรกของปี 2566 เอ็นที ประมาณการรายได้อยู่ที่ 42,447 ล้านบาท รายจ่าย 40,900 ล้านบาท (รวมค่าใช้จ่ายโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด 2,185 ล้านบาท) ทำให้วันนี้ เอ็นที ขาดทุนสุทธิ 638 ล้านบาท อย่างไรก็ดีในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ที่ผ่านมา
เอ็นที ได้คำเนินงานสนับสนุนนโยบายภาครัฐโดยส่วนใหญ่เป็นโครงการต่อเนื่อง อาทิ การต่อยอดบริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC อย่างต่อเนื่องในการจัดหาทรัพยากรด้านการประมวลผล (Computing Resource) ให้กับภาครัฐในรูปแบบการให้บริการ Cloud Service เพื่อให้รองรับหน่วยงานรัฐให้เข้าถึงทรัพยากรด้านคลาวด์
ตามมาตรฐานสากล โดยเพิ่มพื้นที่การจัดเก็บข้อมูลภาครัฐด้วยเทคโนโลยีใหม่ทันสมัยเป็นการขยาย Capacity รองรับการใช้งานภาครัฐที่มีความต้องการสูงขึ้นทุกปี รวมทั้งได้เพิ่มบริการ Market Place บน GDCC ให้บริการแพลตฟอร์มไอที แอปพลิเคชันใหม่ ๆ
และเครื่องมือด้านบิ๊กดาต้า สำหรับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งพร้อมสนับสนุนรัฐบาลใหม่ที่จะเข้าบริหารประเทศด้วยข้อมูลขนาดใหญ่จากระบบคลาวด์ (Cloud) และบิ๊กดาต้า (Big Data)
และในอนาคตเตรียมที่จะเปิด ASEAN Digital Hub เพื่อเพิ่มศักยภาพประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการติดต่อสื่อสารสำหรับกลุ่มประเทศอาเซียนตอนบน ได้แก่ กัมพูชา, ลาว และเมียนมา โดยก่อนหน้านี้ เอ็นที ได้ขยาย Connectivity ผ่านโครงข่ายชายแดน (Cross Border Optical Fiber)
ซึ่งปัจจุบันมีการใช้งานแล้วคิดเป็น 64% ขณะนี้มีความคืบหน้าในการจัดสร้างระบบเคเบิลใต้น้ำ ASIA Direct Cable (ADC) กว่า 90% คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จ ทดสอบระบบฯ รวมถึงส่งมอบสิทธิการใช้งานได้ เพื่อให้พันธมิตรทุกรายเข้ามาเชื่อมต่อภายในไตรมาสแรกของปี 2567
ทั้งนี้ โครงการส่งผลให้เพิ่มความจุแบนด์วิดท์รวมของภูมิภาคอาเซียนซึ่งประเทศเหล่านี้มีการเติบโตของอินเทอร์เน็ตทราฟฟิกสูง เพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้ประกอบกิจการคอนเทนต์ (Content Provider) รายใหญ่เข้ามาตั้งฐานข้อมูลในประเทศไทย และมีการใช้งานผ่านโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศที่ได้ขยายความจุไว้ล
ซึ่งเป็นการผลักดันประเทศให้สู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub) ตามนโยบายภาครัฐ
ขณะที่ในส่วนของโครงการการจัดระเบียบสายสื่อสาร และนำสายสื่อสารลงท่อร้อยสายใต้ดิน ปัจจุบัน เอ็นที ยังคงสานต่อความร่วมมือกับ กฟน., กฟภ., องค์กรภาครัฐ และผู้ประกอบการโทรคมนาคม ซึ่งได้ดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารแล้วเสร็จระยะทาง 34.1 กม.
และด้วยท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินของ เอ็นที ที่ครอบคลุมพื้นที่ในเขตเมืองทั่วประเทศรวม 4,450 กม. จึงพร้อมอำนวยความสะดวกให้ผู้ให้บริการค่ายต่าง ๆ เช่าท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินซึ่งพัฒนาเป็นระบบ Single Last Mile ที่เชื่อมต่อกับบ้านลูกค้าแล้ว
ด้วยหลักการ Infrastructure sharing โอเปอเรเตอร์ทุกรายจะไม่ต้องลงทุนสร้าง และบำรุงสายสื่อสารเอง สามารถลดต้นทุนโดยเช่าตามที่ใช้จริง และตามระยะเวลาที่มีลูกค้าใช้บริการ
ในส่วนของธุรกิจดาวเทียมในปัจจุบัน เอ็นที ได้ให้บริการสื่อสารดาวเทียมไทยคม 4 บนวงโคจร 119.5E และไทยคม 6 วงโคจร 78.5E ซึ่งมีกลุ่มลูกค้าเป็นองค์กร และหน่วยงานภาครัฐแล้ว ในอนาคต เอ็นที ยังมีโครงการขยายบริการด้านดาวเทียมในอนาคต
ได้แก่ การให้บริการผ่านดาวเทียมตำแหน่งวงโคจร 126E ซึ่งอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลจากผู้ผลิตดาวเทียม, ผู้ให้บริการ Launcher, การประสานงานความถี่ในขั้นปลาย รวมถึงการสำรวจความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียมของ หน่วยงานภาครัฐเพื่อนำเสนอกระทรวงดิจิทัลฯ
โดยโครงการดาวเทียมตำแหน่งวงโคจร 126E ดังกล่าวมีศักยภาพรองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมของทุกหน่วยงานภาครัฐและรวมถึงโครงการ USO ที่มีการใช้งานดาวเทียมทั้งหมด นอกจากนี้ เอ็นที ยังร่วมมือกับพาร์ตเนอร์บริการดาวเทียมระดับโลก OneWeb นำเอาบริการดาวเทียมวงโคจรต่ำมาให้บริการในประเทศ
โดยเน้นให้บริการโดยเฉพาะพื้นที่ที่ห่างไกลซึ่งเสาสัญญาณไม่สามารถเข้าถึงได้ เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสถานีเกตเวย์สำหรับอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม OneWeb ณ สถานีดาวเทียมสิรินธร จ.อุบลราชธานี อยู่ระหว่างรอการทดสอบติดตั้งอุปกรณ์ และมีแผนเปิดให้บริการราวต้นปี 2567
เร่งเครื่องเดินหน้าโครงสร้างพื้นฐาน 5G บนคลื่นความถี่ 700MHz. และ 26GHz.
ในอนาคตอันใกล้นี้ เอ็นที จะเร่งดำเนินโครงการบริการ 5G บนคลื่นความถี่ 700MHz. และ 26MHz. โดยใช้ทรัพย์สินที่มีร่วมกัน คือ Core Network เพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อนและเป็นการใช้ 2 คลื่นความถี่ร่วมกันอย่างคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด ในการให้บริการ 5G
เพื่อต่อยอดเทคโนโลยีสร้างบริการอัจฉริยะต่าง ๆ ได้เกิดประสิทธิภาพ และครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ โดยมีการให้บริการใน 2 รูปแบบ คือ บริการ 5G Solution สำหรับองค์กรดำเนินการให้บริการในโครงการติดตั้งเทคโนโลยี 5G สำหรับระบบบริหารเมืองอัจฉริยะ ณ เขตเทศบาลตำบลบ้านฉาง
เพื่อให้บริการต่าง ๆ แก่ประชาชน และนักท่องเที่ยว อาทิ Mobile Applications สำหรับเทศบาล และประชาชน ระบบฐานข้อมูลเมืองเพื่อการเชื่อมโยงข้อมูลการบริการ ระบบติดตาม และตรวจสอบบุคคลสูญหายหรือบุคคลต้องสงสัย ระบบการเชื่อมโยงข้อมูลเมืองเพื่อความปลอดภัย เช่น สถานีตำรวจดับเพลิง
บริการ 5G Retail อยู่ระหว่างการทดสอบด้านเทคนิคในการเปิดให้บริการ /Roaming 5G/4G 700 และความพร้อมของระบบ รวมทั้งการกำหนดแผนการย้ายลูกค้า และกำหนดโปรโมชันช่วง Soft Launch บน 700MHz
ปรับกลยุทธ์รักษาฐานรายได้กลุ่มธุรกิจหลักทั้งหมด
โดยในกลุ่มธุรกิจ Mobile เอ็นที จะเดินหน้าผลักดันกลยุทธ์สำคัญเพื่อรักษาฐานลูกค้า เช่น จัดทำรายการส่งเสริมการขายสำหรับผู้ใช้บริการที่โอนย้ายจากโครงข่าย 850MHz ไปยังโครงข่าย 700MHz ภายในระยะเวลาที่กำหนด ร่วมกับการเพิ่มช่องทางจำหน่ายแบบออนไลน์เพิ่มตัวแทนขาย
และกระตุ้นยอดขายตัวแทนจำหน่ายในทุกพื้นที่ พร้อมจัดทำแคมเปญกระตุ้นตัวแทนขาย ควบคู่ไปกับการขยายตลาดเพิ่มเซกเมนต์ภาครัฐ โดยจัดทำแพ็คเกจให้บริการแบบ Total Solution และ IoT โดยปัจจุปันลูกค้าในกลุ่มนี้ มีอยู่ประมาณ 2 ล้านราย
ขณะทีในกลุ่มธุรกิจ Broadband เอ็นที จะปรับกลยุทธ์ด้านการบริหารโดยการเพิ่ม Product Manager เพื่อดูแลบริการที่ครบวงจรและเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งองค์กร รวมถึงส่งเสริมการขายด้วยโปรโมชัน Up Speed เพิ่มบริการฺ Bundle และเน้นลูกค้าเดิมกว่า 1.8 ล้านราย ให้มีการใช้บริการต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดีในปัจจุบันการแข่งขันในตลาดนี้มีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง เอ็นที จึงเล็งที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนในอนาคต ให้ไปเป็นไปในรูปแบบของการให้บริการโครงข่ายสายปลายทาง (Neutral Last Mile) ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างหาข้อสรุปแนวทางการดำเนินการ
นอกจากนี้ยังมีบริการ วิทยุโทรศัพท์เคลื่อนที่เฉพาะกลุ่ม (Trunked Mobile) ที่ เอ็นที ได้แนวทางที่จะวางโครงข่ายให้ครอบคลุม เพื่อให้หน่วยงานราชการมาร่วมบูรณาการใช้ร่วมกัน ลดความซ้ำซ้อนในการลงทุนในส่วนของ โครงข่าย และบุคลากร โดย Trunked Mobile มีรายได้ในปีนี้กว่า 400 ล้านบาท จากเดิมที่มีประมาณ 80 ล้านบาท
กลุ่มบริการดิจิทัลมาแรงแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่อง
ที่ผ่านมา เอ็นที สามารถเพิ่มรายได้ในภาพรวมจากกลุ่มบริการดิจิทัลได้ชัดเจนขึ้น โดยบริการเดิมอย่าง เอ็นที คลาวด์ ยังรักษาการเติบโตเฉลี่ยปีละ 20–25% และบริการใหม่ที่เริ่มทำรายได้ เช่น ระบบ National Single Window (NSW) ที่เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นมา
คาดว่าจะสร้างรายได้รวมในปี 2566 ประมาณ 160 ล้านบาท และ บริการ เอ็นที บิ๊กเดต้า & เอไอ ซึ่งเปิดให้บริการมา 4 ปี มีอัตราการเติบโตก้าวกระโดดปีละ 45% จากเทรนด์ปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในการทำธุรกิจ
ขณะที่ เอ็นที เดต้าเซ็นเตอร์ ให้บริการ 13 แห่งทั่วประเทศ รองรับได้มากกว่า 1,200 racks ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้บริการแล้วกว่า 90% เอ็นที จึงมีแผนในการสร้าง Data Center แห่งใหม่ ความจุมากกว่า 1,000 racks เพื่อรองรับความต้องการที่สูงขึ้นทุกปี
อีกทั้งขยายการพัฒนาธุรกิจบริการดิจิทัลด้าน Application Platform & Digital Solutions เพื่อตอบสนองความต้องการของหน่วยงานภาครัฐด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) อีกด้วย
ในวันนี้จากแนวทางที่ได้วางแผนเอาไว้ทั้งหมดทั้งในส่วนของการเร่งสร้างรายได้กลุ่ม Digital ใหม่ ๆ ปรับปรุงประสิทธิภาพ สร้างความแข็งแกร่งจากภายในองค์กร และการหาพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อสร้างรายได้ และบริหารจัดการเพื่อลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน การนำที่ดินที่มีกว่า 2,400 ไร่ทั่วประเทศ ของ เอ็นที มาใช้ประโยชน์
และสร้างสร้างรายได้จากพื้นที่เหล่านี้ ร่วมถึงแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรด้านบุคคล โดยมีโครงการเกษียณก่อนอายุหรือโครงการร่วมใจจาก (Mutual Separation Plan : MSP) เพื่อลดค่าใช้จ่ายดำเนินงานลง ทำให้คาดว่าภายในสิ้นปี 2566 นี้ เอ็นที มีโอกาสที่จะกลับมากำไรที่ราว 1,200 ล้านบาท
ส่วนขยาย * บทความเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์ในมุมมองที่น่าสนใจ ** เขียน: ชลัมพ์ ศุภวาที (บรรณาธิการ และผู้สื่อข่าว) *** ขอขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก N/A
สามารถกดติดตามข่าวสาร และบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่ www.facebook.com/itday.in.th