พาโล อัลโต เน็ตเวิร์กส์ (Paloalto Networks) เผยผลสำรวจ ชี้ องค์กรในไทยมีความมั่นใจในมาตรการระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์เพิ่มขึ้น…
highlight
- องค์กรในไทยที่มองว่าเกิดการโจมตีที่สร้างความเสียหายอย่างหนักเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% นั้น มีจำนวนอยู่ราว 22% ขององค์กรทั้งหมดที่มีความมั่นใจในการติดตามปัญหาระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งนับว่าเป็นอัตราส่วนที่ต่ำที่สุดในอาเซียน
- ปัญหาด้านระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ที่ติดอันดับในกลุ่มองค์กรของไทย ได้แก่ เกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเนื่องจากอุปกรณ์ IoT ที่ไม่ปลอดภัย (54%) ต้องจัดซื้อโซลูชันระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์หลากหลายรูปแบบ (47%) และการทำธุรกรรมดิจิทัลกับบุคคลภายนอก (47%)
- องค์กรในไทยราว 43% กำลังปรับกลยุทธ์ด้านระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ให้รองรับการปกป้อง IoT/OT
Paloalto Networks เผยองค์กรในไทยมีความมั่นใจมาตรการความปลอดภัยไซเบอร์เพิ่มขึ้น
พาโล อัลโต เน็ตเวิร์กส์ เผยรายงานสถานการณ์ระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ในอาเซียนปี 2566 ข้อมูลในรายงานระบุว่า เมื่อปีที่ผ่านมาประเทศไทยพบปัญหา “การโจมตีที่สร้างความเสียหายอย่างหนัก“ ในปริมาณน้อยที่สุด โดยมีองค์กร 22% ที่พบจำนวนอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นมากกว่า 50% เมื่อเทียบกับในอดีต
ทั้งนี้ การปกป้องเทคโนโลยีเชิงปฏิบัติการ (OT) โดยเฉพาะระบบที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานสำคัญยังคงเป็นข้อกังวลหลัก เพราะบริการพื้นฐานสำคัญเหล่านั้นต้องเผชิญกับการโจมตีที่สร้างความเสียหายในระดับที่สูงกว่าภาคส่วนอื่น ๆ
ข้อกังวลอันดับต้น ๆ ด้านระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์

มิสเตอร์ เอียน ลิม ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความปลอดภัย ภาคสนาม ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ กล่าวว่า ประเภทการโจมตีที่องค์กรในไทยมีความกังวลมากที่สุด ได้แก่ มัลแวร์ (57%) และการเข้าควบคุมบัญชีผู้ใช้ (57%) และการโจมตีรหัสผ่าน (53%) ซึ่งภายใต้สถานการณ์ที่ต้องพึ่งพาบริการและแอปพลิเคชันระบบคลาวด์มากขึ้น
ธุรกิจในไทยระบุว่า ปัญหาสำคัญด้านระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ที่ตนเองต้องเผชิญหน้าก็ คือ ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากอุปกรณ์ IoT ที่ไม่ปลอดภัย (54%) ความจำเป็นที่ต้องจัดซื้อโซลูชันระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์หลากหลายรูปแบบ (47%) และการทำธุรกรรมดิจิทัลกับบุคคลภายนอก (47%)
อย่างไรก็ดีหากเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนพบว่า ประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ที่ค่อนข้างดีในด้านการเผชิญความเสี่ยงเกี่ยวกับความปลอดภัยไซเบอร์ และการยกระดับทักษะในด้านนี้ โดยมีองค์กรเพียง 37% เท่านั้นที่มองว่าภัยคุกคามทางไซเบอร์อยู่ในระดับสูง หรือสูงมาก และถือเป็นอัตราส่วนที่ต่ำที่สุดในอาเซียน
ขณะที่องค์กรในไทยที่มองว่าเกิดการโจมตีที่สร้างความเสียหายอย่างหนักเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% นั้น มีจำนวนอยู่เพียงราว 22% ขององค์กรทั้งหมดที่มีความมั่นใจในการติดตามปัญหาระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งนับว่าเป็นอัตราส่วนที่ต่ำที่สุดในอาเซียน
ในกลุ่มประเทศอาเซียนนั้น อุตสาหกรรมต่าง ๆ มีความมั่นใจในมาตรการรักษาความปลอดภัย แต่เห็นได้ชัดในภาคบริการ (ธนาคาร และการเงิน) ตลอดจนการขนส่ง และโลจิสติกส์
ส่วนในระดับประเทศนั้น ไทยถือว่ามีความมั่นใจค่อนข้างสูงที่ 87% ว่ามาตรการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ในปัจจุบันจะปกป้องภัยคุกคามได้ อีกทั้งไทยยังมีคะแนนนำในด้านทักษะระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์พื้นฐาน โดยธุรกิจกว่า 78% มีการฝึกอบรมเรื่องนี้แก่พนักงานอย่างเป็นทางการ
ระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ยังคงเป็นภารกิจที่ธุรกิจในไทยให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา องค์กรในไทยราว 38% เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริษัทมีการพูดถึงระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ทุกเดือน นอกจากนี้ธุรกิจในไทยราว 49% ยังได้เพิ่มงบประมาณด้านระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์
เพราะต้องการปรับปรุงการดำเนินงาน (54%) มีการออกหรือปรับกฎระเบียบใหม่ตามกฎหมายด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (44%) เพื่อเดินหน้าเปลี่ยนแปลงกระบวนการสู่ดิจิทัลมากขึ้น (37%) และเนื่องจากสภาพการณ์ของภัยคุกคามมีการเปลี่ยนแปลง (37%)

ดร. ธัชพล โปษยานนท์ ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย และอินโดจีน พาโล อัลโต เน็ตเวิร์กส์ กล่าวว่า ความมั่นใจในมาตรการรักษาความปลอดภัยชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจได้วางแนวทางที่ยืดหยุ่นในการรับมือกับการโจมตีทางไซเบอร์ที่มีรูปแบบซับซ้อนยิ่งขึ้น
โดยไทยได้รับ “ผลจากการโจมตีที่สร้างความเสียหายอย่างหนัก“ ในปริมาณน้อยที่สุด (22%) แต่ก็มีการเพิ่มงบประมาณด้านระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์น้อยที่สุดเช่นกัน เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ทั้งนี้เพราะองค์กรต่าง ๆ ในไทยได้เตรียมตัวมาเป็นเวลาหลายปีจนเห็นผลลัพธ์จากการลงทุนในด้านดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ยังคงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดสำหรับผู้บริหาร เพราะอาชญกรไซเบอร์เองก็เดินหน้าปรับตัว และใช้เทคนิคต่าง ๆ ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นเช่นกัน ในด้านของการลงทุนของระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ในอาเซียนในปี 2566 เราพบว่าประเทศไทย พบโจมตีทางไซเบอร์เพิ่มขึ้นกว่า 50% จากในอดีต
โดยปัญหาที่พบส่วนใหญ่เกิดจากหลายองค์กรในไทยยังคงขาดผู้เชี่ยวชาญด้านระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ และหลายองค์กรยังไม่มีบอร์ดบริหารด้าน ไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ ที่จะค่อยมากำหนดนโยบาย และมาตรการการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งในปัจจุบัน องค์กรในไทยส่วนใหญ่ 92%
ที่มีระบบ OT (Operational Technology) และ IT (Information Technology) ส่วนมากจะปล่อยให้เรื่องการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ขององค์กรให้ฝ่าย IT ขององค์กรเป็นผู้ดูแล IT/OT ร่วมกัน โดยปัญหาที่มักพบก็คือการที่ อุปกรณ์ และเทคโนโลยี ที่ใช้สำหรับระบบ IT ค่อนข้างที่จะแตกต่างกับที่ใช้ในระบบ OT
ทำให้การดูแลเป็นเรื่องค่อนข้างยุ่งยาก ดังนั้นกลยุทธ์ที่องค์กรในไทยควรมอง คือการมีแฟลตฟอร์มกลางที่มีความสามารถในการควมคุมดูแล ระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ต่าง ๆ และโซลูชันระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์หลากหลายขององค์กร เพื่อให้สะดวกในการบริหารจัดการ
กลยุทธ์ด้านระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์
กลยุทธ์ด้านระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ที่สำคัญที่สุด 3 อันดับแรกในไทย ประกอบด้วย การรักษาความปลอดภัยแก่ IoT/OT (43%) การยกเครื่องระบบตรวจจับภัยคุกคาม และระบบ/แพลตฟอร์มตรวจหาพฤติการณ์ที่สัมพันธ์ (40%) การจัดการตัวตนและการเข้าถึงระบบ (38%)
รวมถึงกลยุทธ์การประสานงาน การรับมือ และระบบอัตโนมัติด้านการรักษาความปลอดภัย (SOAR) สำหรับ SOC (38%) ขณะที่การผสานการทำงานกับ AI เป็นเทคโนโลยีที่ธุรกิจต่าง ๆ กำลังเตรียมติดตั้งในเร็ว ๆ นี้ ทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในไทย (56%)
โดยธุรกิจด้านโทรคมนาคม/เทคโนโลยี/สื่อสาร ให้ความสนใจในการนำ AI เข้ามาใช้มากที่สุดในภูมิภาค และคาดว่าจะเติบโตในอัตราที่เร็วขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
“ปัญหาการโจมตีทางไซเบอร์ยังคงขยายตัวไปพร้อมกับการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน และเห็นชัดเจนอย่างมากในบางอุตสาหกรรม เช่น ภาคธนาคาร และการเงิน ซึ่งโดนกดดันให้ต้องทำเร่งทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน และเกิดการแข่งขันกันในระดับสูง
ดังนั้นองค์กรต่าง ๆ ในไทย โดยเฉพาะในภาคธนาคาร และการเงิน จึงจำเป็นต้องสร้างโครงสร้างระบบไอที ที่แข็งแกร่งเพื่อให้ธุรกิจมีความพร้อมในการรับมือช่องโหว่ด้านความปลอดภัยในแบบต่าง ๆ” ดร. ธัชพล กล่าว
หมายเหตุ
การสำรวจครั้งนี้ดำเนินการทางออนไลน์ในเดือนเมษายน 2566 ร่วมกับผู้มีอำนาจตัดสินใจด้านไอทีขององค์กรและผู้นำธุรกิจรวมทั้งสิ้น 500 คน ในห้าอุตสาหกรรมหลักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ด้านบริการ (ธนาคาร การเงิน), รัฐบาล/ภาครัฐ/บริการพื้นฐาน, โทรคมนาคม/เทคโนโลยี/สื่อสาร, ภาคค้าปลีก/โรงแรม/อาหารและเครื่องดื่ม, ขนส่งและโลจิสติกส์ และภาคการผลิต โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามประเทศละ 100 คน ทั้งจากสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย
ส่วนขยาย * บทความเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์ในมุมมองที่น่าสนใจ ** เขียน: ชลัมพ์ ศุภวาที (บรรณาธิการ และผู้สื่อข่าว) *** ขอขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก N/A
สามารถกดติดตามข่าวสาร และบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่ www.facebook.com/itday.in.th