เอไอเอส (AIS) ร่วมกับ กสทช. (NBTC) เดินหน้าสร้างระบบเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือ ด้วยระบบ Cell Broadcast Service (CBS) เจาะจงเฉพาะพื้นที่ หวังสร้างความปลอดภัยให้
highlight
- เอไอเอส เดินหน้าสร้างระบบเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือ ด้วยระบบ Cell Broadcast Service (CBS) เจาะจงเฉพาะพื้นที่เกิดเหตุด่วนเหตุร้ายได้ทันที พร้อมเชื่อมต่อกับศูนย์บัญชาการกลางของภาครัฐ หวังสร้างความปลอดภัยให้ประชาชน และนักท่องเที่ยว หลังเกิดเหตุการณ์รุนแรง กราดยิง และภัยพิบัติทางธรรมชาติหลายครั้ง
AIS ร่วมกับ NBTC เดินหน้าเดินหน้าสร้างระบบ CBS เตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือแบบเจาะจงเฉพาะพื้นที่
ศาสตราจารย์คลินิก นพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. กล่าวว่า ในช่วงปีที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และเหตุการณ์รุนแรงไม่คาดคิด เช่น เหตุกราดยิงในห้างสรรพสินค้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างมาก
กสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับกิจการโทรคมนาคม จึงทำงานร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกรายอย่างต่อเนื่อง
ในการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยจากภาครัฐแบบเจาะจงพื้นที่ (Cell Broadcast Service) โดยได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง และบริการเพื่อสังคม (USO)
ทั้งนี้ ระบบแจ้งเตือนภัยแบบเจาะจงพื้นที่ดังกล่าว จะเป็นการส่งข้อความเตือนภัยแบบส่งตรงจากเสาส่งสัญญาณสื่อสารในพื้นที่ ไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกเครื่องในบริเวณนั้น แตกต่างจากระบบ SMS ทั่วไป เพราะไม่จำเป็นต้องใช้หมายเลขโทรศัพท์
ซึ่งจะทำให้การสื่อสารข้อมูลเตือนภัยทำได้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมทั้งพื้นที่เกิดเหตุ โดยประชาชนไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันใด ๆ
“การทดสอบระบบแจ้งเตือนภัย Cell Broadcast Service (CBS) ซึ่ง กสทช.เริ่มต้นกับ เอไอเอส ในวันนี้ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และพร้อมที่จะเชื่อมต่อกับศูนย์บัญชาการกลางของภาครัฐ (Command Center) เพื่อเป็นเครื่องมือ หรือช่องทางในการเตือนภัยได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ
ทำให้ประเทศไทยมีระบบเตือนภัยได้มาตรฐานสากลสร้างความอุ่นใจให้แก่ประชาชน ส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และความปลอดภัยทางสังคมให้กับประเทศต่อไป” ประธาน กสทช. กล่าว
ด้าน วรุณเทพ วัชราภรณ์ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ เอไอเอส กล่าวว่า เราได้ร่วมทำงานกับ กสทช. และภาครัฐ ในการเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับระบบเตือนภัยของประเทศตามมาตรฐานสากล นั่นคือ เทคโนโลยี Cell Broadcast Service หรือ ระบบสื่อสารข้อความตรงไปที่โทรศัพท์เคลื่อนที่ของประชาชน
ซึ่งระบบนี้มีความเหมาะสมกับการนำมาใช้เพื่อแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน เนื่องจากสามารถส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องที่อยู่ในพื้นที่ครอบคลุมของสถานีฐานบริเวณนั้น ๆ ในเวลาเดียวกัน ด้วยรูปแบบของการแสดงข้อความที่หน้าจอโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Pop UP Notification)
แบบ Near Real Time Triggering เพื่อให้สามารถรับรู้สถานการณ์ได้ทันที โดยล่าสุดได้ทดลอง ทดสอบเทคโนโลยีดังกล่าว ได้ผลตามเป้าหมายที่ต้องการเรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่จะขยายผลเชื่อมโยงกับระบบเตือนภัยของประเทศได้อย่างเต็มประสิทธิภาพต่อไป
การนำเทคโนโลยี Cell Broadcast Service มาใช้งานแบบ 2 ฝั่ง
ฝั่งที่ 1 : ดำเนินการ และดูแล โดย ศูนย์บัญชาการกลางของภาครัฐ ผ่านระบบ Cell Broadcast Entities (CBE) ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในการกำหนดเนื้อหา และพื้นที่ในการจัดส่งข้อความ ประกอบไปด้วยฟังก์ชั่นต่าง ๆ อาทิ การบริหารจัดการระบบ (Administrator), การจัดการข้อความที่จะสื่อสาร (Message Creator ) และ การอนุมัติยืนยันความถูกต้อง (Approver)
ฝั่งที่ 2 : ดำเนินการ และดูแล โดย ผู้ให้บริการโครงข่าย ผ่านระบบ Cell Broadcast Center (CBC) ซึ่งเป็นระบบที่ทำหน้าที่นำเนื้อหาข้อความ ไปจัดส่งในสถานีฐานตามพื้นที่ที่กำหนดได้อย่างถูกต้อง โดยจะประกอบไปด้วย การบริหารระบบ และการตั้งค่า (System & Configuration), การส่งต่อข้อความสื่อสารที่ได้รับมาผ่านโครงข่าย (Message Deployment Function) และ การบริหารโครงข่ายสื่อสาร (Network Management)
“ระบบแจ้งเตือนแบบเดิม CBE จะรวมหลายการแจ้งเคือนของหน้วยงานรัฐ และจะส่งมาหาผู้ให้บริการอย่าง เอไอเอส ดีแทค ทรู เพื่อให้แจ้งเตือนผู้ใช้งานผ่านระบบข้อความต่อไป ซึ่งขั้นตอนจะมีระยะในการตรวจสอบทำให้ให้บางกรณีอาจจะไม่ทันต่อเหตุการณ์ และไม่เห็นภาพจุดที่ควรหลีกเลี่ยง
เอไอเอส จึงได้ พัฒนาระบบ CBC ขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ทำงานร่วมกับระบบเดิม แต่พิเศษมากขึ้นระบบดังกล่าวจะวามารถกำหนดพื้นที่ได้ว่าพื้นที่ให้บริการจะอยู่จุดใดไม่ใช่การส่งแบบหว่านแห่ไปยังสมาร์ตโฟนทุกเครื่องเหมือนระบบเดิม และระบบใหม่จะเป็นกสรแจ้งเตือนภาพพร้อมข้อความแจ้งเตือนแบบอ่านออกเสียง และสั่นเตือน”
ส่วนขยาย * บทความเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์ในมุมมองที่น่าสนใจ ** เขียน: ชลัมพ์ ศุภวาที (บรรณาธิการ และผู้สื่อข่าว) *** ขอขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก N/A
สามารถกดติดตามข่าวสาร และบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่ www.facebook.com/itday.in.th