กรมการค้าภายใน (DIT) เผย หน่วยงานเอกชน และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนส่วนใหญ่ ขานรับมาตรการ มาตรการกำกับดูแลยา เวชภัณฑ์ และค่าบริการรักษาพยาบาล…
highlight
- กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เผยผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับ
มาตรการกำกับดูแลยา เวชภัณฑ์ และค่าบริการรักษาพยาบาล พบว่า หน่วยงานเอกชนและผู้ประกอบการที่ เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนส่วนใหญ่ ขานรับมาตรการดังกล่าว เพราะทำให้เกิดประโยชน์ ในภาพรวมต่อทุกฝ่าย
DIT เผย ภาคเอกชน และประชาชน ขานรับมาตรการ
ประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า จากการที่กรมฯ ได้ออกมาตรการกำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนแจ้งข้อมูลราคาซื้อและราคาจำหน่ายยา เวชภัณฑ์ และค่าบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำมาเป็นฐานข้อมูลในการจัดทำ QR Code
และให้โรงพยาบาลเอกชนติดตั้งภายในบริเวณโรงพยาบาล เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบ และเปรียบเทียบราคาได้ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2562 ผ่านสมาร์ทโฟน และจากเว็บไซต์กรมการค้าภายใน (www.dit.go.th) และเพื่อจะทราบข้อคิดเห็น ความพึงพอใจ รวมถึงผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว กรมการค้าภายใน
จึงได้ศึกษาและสำรวจความคิดเห็นประชาชน และหน่วยงานภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง การสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับผลมาตรการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อนำข้อมูลมาเป็นแนวทางปรับปรุงในการกำกับดูแลราคายา เวชภัณฑ์ และค่าบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล
และการใช้ระบบค้นหาและเปรียบเทียบราคายาในโรงพยาบาลเอกชน โดยสำรวจกลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่ม ด้วยกัน ได้แก่ โรงพยาบาลเอกชน ผู้เข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องในโรงพยาบาลเอกชน ผู้ประกอบการร้านขายยา และบริษัทประกันชีวิต และประกันภัย
ผลการสำรวจ พบว่า ภาคประชาชน เห็นว่าเป็นมาตรการที่เป็นประโยชน์มาก และให้ดำเนินการมาตรการนี้ต่อไปเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ภาคผู้ประกอบการทั้งกลุ่มโรงพยาบาลเอกชน บริษัทประกันฯ มองว่าไม่ได้รับผลกระทบกับมาตรการนี้ และส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นมาตรการที่เป็นประโยชน์ และเห็นควรให้ดำเนินการมาตรการนี้ต่อไปเช่นกัน
สำหรับการใช้บริการระบบค้นหา และเปรียบเทียบราคายาในโรงพยาบาลเอกชน ภาคประชาชนมีความพึงพอใจต่อการใช้บริการ โดยคะแนนค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.05 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน นอกจากนี้ในรายงานการสำรวจความคิดเห็นยังระบุถึงข้อเสนอแนะที่น่าสนใจจากกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ ประกอบการพิจารณามาตรการในอนาคต
ได้แก่ ให้มีขยายการกำกับดูแลค่าใช้จ่ายอื่น ๆ นอกเหนือจากราคายา ทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้จักและเข้าไปใช้งาน QR Code มากขึ้น และขยายผลให้ครอบคลุมรายการยามากขึ้น ในส่วนของการใช้งาน QR Code ส่วนใหญ่อยากให้ทางโรงพยาบาลเอกชนที่ไปใช้บริการมีการประชาสัมพันธ์และชี้แจงรายละเอียดให้มากขึ้น รวมถึงเพิ่มช่องทางในการเข้าถึง
เช่น จัดทำเป็นบาร์โค้ด เอกสาร โบว์ชัวร์ และจัดทำเนื้อหาเป็นภาษาไทยจะได้เข้าใจง่ายขึ้น นอกจากนี้ควรมีการออกใบรับรองให้กับโรงพยาบาล เพื่อสร้างความมั่นใจว่าโรงพยาบาลได้ปฏิบัติตามกระทรวงพาณิชย์แล้ว สำหรับกรณีมีการจำหน่ายราคาสูงควรมีการดำเนินการอย่างจริงจัง
ในส่วนของการประเมินค่ารักษาเบื้องต้นของโรงพยาบาล อยากให้มีการกำหนดมาตรฐานราคายาของทุกโรงพยาบาลให้เป็นแบบเดียวกัน และการกำหนดบทลงโทษอย่างจริงจังหากมีการฝ่าฝืน โดยผลการสำรวจในครั้งนี้กรมการค้าภายใน จะนำมาประกอบการพิจารณาในการกำกับดูแลต่อไป เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และเป็นธรรมเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลในทุกภาคส่วน
และเพิ่มช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลราคายา ค่ารักษาพยาบาลได้อย่างเท่าเทียมทุกภาคส่วนอนึ่งกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการประสานกับกระทรวงสาธารณสุขเรื่องค่าบริการตรวจรักษาโรคโควิด 19 เพื่อให้เป็นมาตรฐาน และมีความเป็นธรรมต่อทุกภาคส่วน
ส่วนขยาย * บทความเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์ในมุมมองที่น่าสนใจ ** เขียน: ทวีรัชต์ ตั้งชาญตรงกุล (นักเชียนอิสระ) และ ชลัมพ์ ศุภวาที (บรรณาธิการ และผู้สื่อข่าว) *** ขอขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก www.pexels.com
สามารถกดติดตามข่าวสารและบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่ www.facebook.com/itday.in.th