พฤติกรรมการเปิดรับข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทาง Social Media ของผู้บริโภคในยุคดิจิทัลจะกลายเป็นกลไกสำคัญในการสร้างแรงสั่นสะเทือนในการองค์กรธุรกิจในปัจจุบัน…
highlight
- เอเชียจะเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของจีดีพี (GDP) โลก โดย 60% ของการซื้อขายสินค้าที่ผลิตโดยประเทศในเอเชียนั้นเกิดขึ้นภายในภูมิภาคนี้
- ผู้คนเปิดใจรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ก่อนภาคธุรกิจด้วยซ้ำ ซึ่งพฤติกรรมนี้ส่งผลต่อวิธีการค้นหา การศึกษาข้อมูล และการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ด้วยใช้ช่องทางในโซเชียลมีเดียทั้ง 3 แพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น การแชร์คอนเทนต์แบบชั่วคราว คอนเทนต์ในรูปแบบวิดีโอ และการส่งข้อความทางแชท เราจะได้เห็นพฤติกรรมที่มุ่งไปสู่การใช้แพลตฟอร์ผ่านมือถือที่เพิ่มขึ้น มีคอนเทนต์ในรูปแบบวิดีโอมากขึ้น มีการใช้ Stories มากขึ้น ไปจนถึงการสนทนา และการทำธุรกิจผ่านการทักแชทที่จะเพิ่มมากขึ้น
- เอเชียจะครองตลาดของผู้ใช้งานมือถือรายใหม่มากที่สุดในโลกภายในปี 2020 โดยมัสัดส่วนมากถึง 61% ขณะที่ยุโรปตะวันออกกลาง-แอฟริกาจะอยู่ที่ 25% และสหรัฐอเมริกา อยู่ที่ 14% นอกจากนี้ยังมีจำนวนผู้ชมวิดีโอในเอเชียเพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยในปี 2019 กว่า 54% ของผู้ชมวิดีโอสตรีมมิ่งทั่วโลกมาจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
- ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นนำเทรนด์การซื้อขายสินค้าผ่านแชทออนไลน์แซงหน้าประเทศอื่น ๆ ทั้งในแง่การรับรู้ และการใช้แชทออนไลน์เพื่อการซื้อสินค้า
Facebook ออกโรงแนะองค์กรธุรกิจจับตากระแส Social Media พลิกเกมธุรกิจปี 2020
เมื่อเร็ว ๆ นี้ จอห์น แวกเนอร์ ผู้อำนวยการบริหาร Facebook ประเทศไทย ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงแนวโน้มของโซเชียลมีเดีย (Social Media) ที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงอย่างมากภายในปี 2020 โดยกล่าวว่า ภายในปี 2020 ที่กำลีงจะมาถึงนี้ถือเป็นทศวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลง ที่ได้พลิกโฉมการประกอบธุรกิจแบบดั้งเดิมทั่วโลกไปโดยสิ้นเชิง ตั้งแต่การเริ่มต้นธุรกิจ การตลาด ไปจนถึงการสร้างธุรกิจให้เติบโต ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเด่นชัดในเอเชีย
เนื่องจากทุกประเทศล้วนมีอัตราการเติบโตของการใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือแบบก้าวกระโดด ส่งผลให้เศรษฐกิจในแถบนี้เติบโตเร็วมากที่สุดอีกภูมิภาคหนึ่งในโลก ซึ่งจากรายงานของบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลก McKinsey ได้คาดการณ์ว่าเอเชียจะเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของจีดีพี (GDP) โลก
เนื่องจากทิศทางการค้าการลงทุนข้ามพรมแดนทั่วโลกจะเคลื่อนย้ายมาทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย รายงานนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจอาจเปลี่ยนกระแสโลกาภิวัตน์ไปสู่กระแสภูมิภาคนิยมได้ โดย 60% ของการซื้อขายสินค้าที่ผลิตโดยประเทศในเอเชียนั้นเกิดขึ้นภายในภูมิภาคนี้
นอกจากนี้ 71% ของการลงทุนในสตาร์ทอัพในเอเชียยังถือเป็นการลงทุนระหว่างภูมิภาค ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวเอเชียนั้นนิยมเดินทางท่องเที่ยวในเอเชีย คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 74% ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจระดับมหภาค ความคาดหวังของผู้บริโภคที่มีต่อประสบการณ์จากแบรนด์ และธุรกิจมีการผันเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราเห็นว่าผู้คนเปิดใจรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ก่อนภาคธุรกิจด้วยซ้ำ ซึ่งพฤติกรรมนี้ส่งผลต่อวิธีการค้นหา การศึกษาข้อมูล และการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคในท้ายที่สุดเช่นกันเราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้บน Facebook ซึ่งทุก ๆ วัน มีผู้ใช้หลายพันล้านคนทั่วโลกปฏิสัมพันธ์กัน รวมถึงค้นพบสินค้า และบริการที่พวกเขาสนใจ
เรา
เป็นทั้งชุมชน และแพลตฟอร์มแห่งความคิดสร้างสรรค์ ที่ซึ่งแบรนด์สามารถแจ้งเกิด ค้นหาแรงบันดาลใจ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในชุมชนของผู้ใช้ Facebook ช่วงต้นปี 2019 ซึ่งเราได้เผยถึง 3 เทรนด์ที่กำลังมาแรงบนแพลตฟอร์มของเรา ไม่ว่าจะเป็นการแชร์คอนเทนต์แบบชั่วคราว คอนเทนต์ในรูปแบบวิดีโอ และการส่งข้อความทางแชท
โดยในปี 2020 เทรนด์เหล่านี้จะมีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้นในเอเชีย สรุปง่ายๆ คือ ในเอเชียเราจะเห็นพฤติกรรมที่มุ่งไปสู่การใช้แพลตฟอร์ผ่านมือถือที่เพิ่มขึ้น มีคอนเทนต์ในรูปแบบวิดีโอมากขึ้น มีการใช้ Stories มากขึ้น ไปจนถึงการสนทนา และการทำธุรกิจผ่านการทักแชทที่จะเพิ่มมากขึ้น
เอเชียครองตลาดของผู้ใช้งานมือถือรายใหม่มากที่สุดในโลกซึ่งมีถึง 61% เมื่อเทียบกับโซนยุโรปตะวันออกกลาง-แอฟริกา (25%) และสหรัฐอเมริกา (14%) นอกจากนี้ยังมีจำนวนผู้ชมวิดีโอในเอเชียเพิ่มขึ้นอีกด้วย ในปี 2019 กว่า 54% ของผู้ชมวิดีโอสตรีมมิ่งทั่วโลกมาจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ขณะที่ Video on Mobile หรือวิดีโอที่รับชมบนมือถือจะมอบประสบการณ์ที่แตกต่างไปจากเดิม และแปรเปลี่ยนไปตามปัจจัยอีกมากมาย จากการศึกษาวิจัย และประสบการณ์ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นประสบการณ์การรับชมวิดีโอที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดและมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น
โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก คือ กลุ่มที่รับชมวิดีโอระหว่างเดินทาง “on-the-go” และ กลุ่มที่ชื่นชอบการดูและตั้งใจเข้ามารับชมวิดีโอ “captivated viewing” ซึ่งในยุคที่พฤติกรรมการรับชมเปลี่ยนไป กุญแจสำคัญที่ช่วยให้แบรนด์ดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคได้มากที่สุดก็คือ การค้นหาและใช้งานได้ง่าย ไม่ว่าจะด้วยการสร้างภาพลักษณ์ที่ชัดเจนบนคอมมูนิตี้ออนไลน์
หรือการผลิตคอนเทนต์ที่มีคุณภาพสูง ขณะที่ธุรกิจบริการสตรีมมิ่งกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผู้ชมจะมองหาแบรนด์ที่สื่อสารข้อเสนอต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจนมากที่สุด รวมไปถึงแบรนด์ที่สามารถสร้างสรรค์ประสบการณ์การรับชมได้ตามความต้องการของแต่ละคนและยังคงเห็นแนวโน้มของผู้ใช้งานที่หันมาแชร์ประสบการณ์แบบชั่วคราวกันอย่างรวดเร็ว
โดยมียอดผู้ใช้งานฟีเจอร์ Stories มากกว่า 500 ล้านรายต่อวัน ทั้งบน Facebook, Messenger, Instagram และ WhatsApp และยิ่งผู้คนใช้ Stories กันมากยิ่งขึ้นเท่าไร เราก็สามารถเปิดโอกาสให้นักการตลาดใช้ฟีเจอร์ที่คนนิยมใช้กันบ่อยๆ นี้ในการเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้นเท่านั้นขณะที่การส่งข้อความก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน โดยเมื่อต้นปี 2018 มีการส่งข้อความมากกว่า 8 พันล้านข้อความ
ระหว่างผู้คนกับธุรกิจบน Messenger ทุกๆ เดือน และเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวเป็น 2 หมื่นล้านข้อความในปีนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้คนคาดหวังที่จะสื่อสารกับธุรกิจในลักษณะเดียวกันกับที่พวกเขาส่งข้อความให้กับเพื่อนๆ เมื่อผู้คนใช้แอปพลิเคชันส่งข้อความกันมากขึ้น เราสามารถช่วยให้ธุรกิจปรับตัวตามเทรนด์นี้ได้ทันเช่นเดียวกัน
ซึ่งปัจจุบันมีธุรกิจที่ใช้ Messenger เป็นประจำทุกเดือนมากกว่า 40 ล้านราย (เช่น การส่งหรือรับข้อความทาง Messenger) ซึ่งผู้คนในกลุ่มประเทศซึ่งเป็นตลาดเกิดใหม่ในเอเชียแปซิฟิกมีแนวโน้มที่จะส่งข้อความหาผู้ประกอบธุรกิจเฉลี่ยมากกว่าทั่วโลก โดย 63% ของผู้ตอบแบบสอบถามในเอเชียแปซิฟิกได้ส่งข้อความไปให้กับธุรกิจในช่วงวันหยุดปลายปีที่แล้ว
ปัจจุบันมีธุรกิจกว่า 5 ล้านรายที่ใช้แอปพลิเคชัน WhatsApp Business ทุกเดือน ซึ่งประเด็นย่อยที่น่าสนใจก็คือ ความนิยมส่งข้อความกันมากขึ้นสะท้อนถึงการเติบโตของการซื้อขายสินค้าผ่านการส่งข้อความและแชทออนไลน์อีกด้วย จากรายงานการศึกษาระดับโลกซึ่งจัดทำโดย Boston Consulting Group ร่วมกับ Facebook ใน 9 ประเทศ
พบว่าประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นนำเทรนด์การซื้อขายสินค้าผ่านแชทออนไลน์แซงหน้าประเทศอื่น ๆ ทั้งในแง่การรับรู้ และการใช้แชทออนไลน์เพื่อการซื้อสินค้า จากกลุ่มสำรวจตัวอย่างทั้งหมด 9 ประเทศ พบว่าประเทศไทยมียอดการทำธุรกรรมจากการซื้อขายผ่านแชทออนไลน์มากที่สุดเป็นอันดับแรก (40%) ตามมาด้วยเวียดนาม (36%)
รองลงมาได้แก่ อินโดนีเซีย (29%) มาเลเซีย (26%) และฟิลิปปินส์ (23%) ในขณะที่สัดส่วนการซื้อขายผ่านแชทออนไลน์ในประเทศอื่นยังอยู่ในระยะเริ่มต้น อาทิ สหรัฐอเมริกา (5%) เม็กซิโก (6%) อินเดีย (10%) และบราซิล (11%) ซึ่งสะท้อนถึงโอกาสสำคัญในการเติบโตเช่นกัน
การพัฒนาทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าภูมิทัศน์การค้าจะยังคงเปลี่ยนแปลงต่อไป ตามพฤติกรรมและวิธีที่ผู้คนเลือกจะโต้ตอบกับธุรกิจ ผ่านประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของพวกเขา โดยยังคงรักษาความเป็นส่วนตัวได้อย่างไร้รอยต่อ ด้วยอิทธิพลของแพลตฟอร์มและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบนมือถือ
ทำให้วิธีที่ผู้คนค้นพบสินค้าใหม่ในทุกวันนี้กลายเป็นการสร้างประสบการณ์ที่ผู้คนเชื่อมโยงได้มากขึ้น การสร้างธุรกิจและแบรนด์ให้ปรากฏบนแพลตฟอร์มและค้นหาได้ จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะให้ธุรกิจคว้าชัยชนะในศึกการค้ายุคใหม่ได้สำเร็จ
แล้วจะเตรียมอย่างไรสำหรับการค้าในยุคใหม่?
ดังนั้นมักจะมีคำถามว่าแล้วธุรกิจจะทำอะไรได้บ้างเพื่อที่จะเตรียมพร้อมสำหรับการค้าในยุคใหม่นี้ คำตอบของสมการนี้ก็คือ การสร้างความสัมพันธ์ โดยผู้ประกอบธุรกิจต่าง ๆ จะต้องสามารถสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนได้ด้วยการออกแบบเว็บไซต์ที่รองรับการใช้งานบนมือถือ แอปพลิเคชัน การตลาด และการสื่อสารแบบเรียลไทม์
เพื่อลดช่องโหว่ และสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า ประการที่สอง ธุรกิจจะต้องพิจารณาว่าคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในทีมทั้งหมดนั้นมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกันอย่างไร เพื่อที่จะมอบประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นตามความคาดหวังของลูกค้า ประการที่สาม การสร้างความสัมพันธ์จะต้องอาศัยแนวความคิดเชิงสร้างสรรค์ ยินดีที่จะทดลองปฏิสัมพันธ์และเชื่อมต่อในรูปแบบใหม่ ๆ
ผ่านเทคโนโลยี AR/VR การทำวิดีโอแนวตั้ง ไปจนถึงการสร้างช่องทางและแพลตฟอร์มขึ้นมาใหม่เพื่อสร้างความโดดเด่นและแตกต่างไปจากธุรกิจอื่น และควรเลือกวัดผลเฉพาะสิ่งที่สำคัญ แบรนด์ต้องใช้พื้นที่ของตัวเองในการรังสรรค์ไอเดียให้เป็นจริง เพื่อที่จะดึงดูดความสนใจและรักษาความสนใจจากผู้คนให้ได้
ไม่ว่าจะด้วยการขยายพื้นที่ให้ใหญ่มากขึ้น น่าสนใจมากขึ้น หรือเชื่อมโยงกันได้มากขึ้น ที่สำคัญธุรกิจต้องกำหนดวัตถุประสงค์ได้อย่างถูกต้อง เช่นเดียวกับการวัดผลลัพธ์ ซึ่งจะช่วยในการวางแผนธุรกิจใหม่และสร้างประสบการณ์ที่มอบทางเลือก
การตอบโจทย์เฉพาะบุคคล มีการโต้ตอบ และมีความเกี่ยวข้องมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
ส่วนขยาย * บทความเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์ในมุมมองที่น่าสนใจ ** เขียน: ชลัมพ์ ศุภวาที (บรรณาธิการ และผู้สื่อข่าว) *** ขอขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก www.pexels.com
สามารถกดติดตามข่าวสารและบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่ www.facebook.com/itday.in.th