NT ปรับโครงสร้างองค์กรก้าวสู่ปีที่ 5 เล็งขยายพันธมิตรสร้างโอกาสธุรกิจดิจิทัล

NT

เอ็นที (NT) ก้าวสู่ปีที่ 5 ปรับโครงสร้างองค์กรยกระดับระบบงานบริการลูกค้า พร้อมร่วมมือพันธมิตรเสริมศักยภาพขับเคลื่อนธุรกิจใหม่รองรับตลาดดิจิทัลขยายตัวปีหน้า มุ่งตอบโจทย์กลุ่ม Hyperscale และโครงการภาครัฐ…

NT ปรับโครงสร้างองค์กรก้าวสู่ปีที่ 5 เล็งขยายพันธมิตรสร้างโอกาสธุรกิจดิจิทัลมุ่งสู่กลุ่ม Hyperscale และโครงการภาครัฐ

NT
พันเอก สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที (NT)

พันเอก สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที (NT) เปิดเผยทิศทางการขับเคลื่อน เอ็นที หลังจัดทัพโครงสร้างองค์กรใหม่ในปี 2568 ประกอบด้วย 6 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน, กลุ่มธุรกิจโทรศัพท์ประจำที่และบรอดแบนด์, 

กลุ่มธุรกิจสื่อสารไร้สาย, กลุ่มธุรกิจระหว่างประเทศ, กลุ่มธุรกิจดิจิทัล และกลุ่มธุรกิจ ICT Solution โดย เอ็นที ยังคงมุ่งสร้างรายได้หลักจากกลุ่มธุรกิจสื่อสารไร้สาย และกลุ่มธุรกิจโทรศัพท์ประจำที่ และบรอดแบนด์ ซึ่งเน้นควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายอย่างเข้มข้น

โดยเฉพาะบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง my และ เอ็นที โมบาย อยู่ระหว่างเร่งโอนย้ายลูกค้าไปยังคลื่น 700 MHz ขณะที่บริการวิทยุคมนาคม Trunked Radio ยังคงมีรายได้สม่ำเสมอ และกำไรตามเป้า  

สำหรับธุรกิจขาขึ้นคือกลุ่มธุรกิจดิจิทัล และกลุ่มธุรกิจ ICT Solution มีแนวโน้มอัตราเติบโตที่ต่อเนื่อง ซึ่ง เอ็นที ตั้งเป้าสร้างรายได้เพิ่ม และเร่งการเติบโตกลุ่มดิจิทัลให้มากยิ่งขึ้น เน้นเปิดกว้างแนวทางพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ร่วมกับพันธมิตรภาคเอกชนที่จะช่วยให้ เอ็นที เข้าถึงเทคโนโลยี และนวัตกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ

และช่วยให้สามารถ เอ็นที ขยายธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง และรุกตลาดใหม่ได้อย่างรวดเร็ว สามารถตอบสนองทันต่อความต้องการด้านดิจิทัลที่สูงขึ้นต่อเนื่องในปีหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านคลาวด์คอมพิวติ้ง  

NT

“นโยบายรัฐบาลในปีหน้ามุ่งนำระบบงานขึ้นสู่คลาวด์ทั้งหมดเพื่อพัฒนาข้อมูลโอเพนดาต้าภาครัฐ จึงต้องการบริการ Migration ซึ่งเป็นโอกาสในการเติบโตของบริการคลาวด์ รวมถึงเรามีโอกาสพัฒนาความร่วมมือพันธมิตร OTT โดยใช้ศักยภาพด้านพื้นที่ และโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่เชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ

ตั้งแต่โครงข่ายเคเบิลใต้น้ำจนถึงการเชื่อมต่อวงจรสื่อสาร DWDM เพื่อรองรับการให้บริการ Facility สำหรับกลุ่มดาต้าเซ็นเตอร์ข้ามชาติ Hyperscale DC หรือ Edge DC ที่สนใจลงทุนในประเทศไทย ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องยุทธศาสตร์ประเทศในการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม”  

เล็งลดความซ้ำซ้อน ลดค่าใช้จ่าย ในองค์กรต่อเนื่อง

NT

พันเอก สรรพชัยย์ กล่าวต่อไปถึงการดำเนินธุรกิจตลอด 4 ปี ของ เอ็นที ว่า หลังควบรวมองค์กรว่าเน้นการหลอมรวมระบบงาน และการจัดการภาพรวมโดยครอบคลุมการลดความเสี่ยง ลดความซ้ำซ้อน ลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มรายได้  ปัจจุบัน เอ็นที พร้อมก้าวสู่ปีที่ 5 โดยโครงสร้างใหม่ที่ปรับการบริหารงานองค์กรภาพรวม

ไม่ให้มีความซ้ำซ้อนสามารถบริหารงาน และให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ บูรณาการข้อมูลและระบบงานในรูปของดาต้าแพลตฟอร์มที่มุ่งนำศักยภาพด้านบริการดิจิทัลขององค์กรมาใช้กับกระบวนการภายในของ เอ็นที มากขึ้น โดยในระยะต่อไปจะปรับกระชับยิ่งขึ้นเพื่อมุ่งสู่ปลายทาง คือ Customer Centric เต็มรูปแบบ  

อีกทั้งรองรับเป้าหมายการดำเนินธุรกิจของ เอ็นที ที่เน้นขับเคลื่อนภาครัฐสู่รัฐบาลดิจิทัล และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลโดยสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ เอ็นที ในการเป็น “องค์กรแห่งชาติที่เชื่อมต่อเทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรมเพื่อคนไทยทุกคน”  

ด้านผลประกอบการ เอ็นที ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2567  มีรายได้ 77,955 ล้านบาท คาดสิ้นปีรายได้รวม 84,963 ล้านบาท โดยคาดรายได้ปีหน้าเพิ่มขึ้นจากการเปิดให้บริการ Gateway สำหรับระบบดาวเทียมวงโคจรต่ำ 

การใช้ประโยชน์อสังหาริมทรัพย์ การขยายตัวของธุรกิจดิจิทัล และ ICT Solution และกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานที่ยังสามารถเติบโตได้

NT
ดร.วงกต วิจักขณ์สังสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานดิจิทัล บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที (NT)

ดร.วงกต วิจักขณ์สังสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานดิจิทัล บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที (NT) กล่าวเสริมว่า ในส่วนของแผนของการแผนในการพัฒนาพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ โดย เอ็นที แผนพัฒนาที่ดิน 2 แห่ง จาก 5-6 แห่ง ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

นอกจากนี้ยังเล็งพัฒนาเป็น เดต้า เซ็นเตอร์ (Data Center) ร่วมกับพันธมิตร เพื่อให้บริการคลาวด์ ซึ่งขณะนี้มีบริษัทต่างชาติสนใจอยู่ 4-5 บริษัท เนื่องจาก เดต้า เซ็นเตอร์ 2 แห่ง ของ เอ็นที ทั้งที่ บางรัก และ นนทบุรี ของ เอ็นที ใกล้ความจุเต็มแล้ว ซึ่งน่าจะใช้ได้อีกเพียง 2 ปี

ขณะที่ในส่วนของการการสร้าง ดาต้า เซ็นเตอร์ แห่งใหม่ ต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปี 8 เดือน จึงจำเป็นต้องเร่งหาข้อสรุป ซึ่งคาดว่าภายในปีหน้าน่าจะเห็นความชัดเจนมากขึ้นว่า เอ็นที จะร่วมมือกับผู้ใ้หบริการรายใด โดยทั้งนี้จะต้องเป็นไปตามผลประโยชน์ของประเทศชาติมากที่สุด

บวกกับเมื่อพิจารณานโยบาย Cloud First Policy ที่รัฐบาลในการเพิ่มประสิทธิภาพ มีความปลอดภัยของข้อมูล ในการให้บริการประชาชน ก็น่าจะช่วยให้ เอ็นที สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น

ส่วนขยาย

* บทความเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์ในมุมมองที่น่าสนใจ 
** เขียน: ชลัมพ์ ศุภวาที (บรรณาธิการ และผู้สื่อข่าว) 
*** ขอขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก N/A

สามารถกดติดตามข่าวสาร และบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่  www.facebook.com/itday.in.th

ITDay