ซัมซุง (Samsung) สร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ สานต่อโครงการ ‘ห้องเรียนแห่งอนาคต’ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ผ่านแนวคิด “ห้องเรียนแห่งอนาคต”…
highlight
- ซัมซุงสานต่อวิสัยทัศน์โครงการเพื่อสังคมด้านการศึกษา “ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต” (Samsung Smart Learning Center) ชวนเยาวชนจาก โรงเรียนขุนยวมวิทยา จ.แม่ฮ่องสอน ร่วมกันค้นคิดสูตรอาหาร ทดลองปรุง ชิม ปรับสูตร จนกว่าจะได้สูตรอาหารจานใหม่ที่มีผักพื้นบ้านรสชาติที่โดนใจทั้งตัวเอง และเพื่อน ๆ
Samsung Smart Learning Center
ซัมซุงสานต่อวิสัยทัศน์โครงการเพื่อสังคมด้านการศึกษา “ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต” ผ่านแนวคิด “ห้องเรียนแห่งอนาคต” สร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ผ่านนวัตกรรมและกระบวนการเรียนรู้ใหม่ๆ สนับสนุนให้เยาวชนพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 นำเยาวชนร่วมโครงการเรียนรู้ผักพื้นบ้าน ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างสรรค์เมนูใหม่จากวัตถุดิบในชุมชน
โรงเรียนขุนยวมวิทยา จ.แม่ฮ่องสอน เป็นหนึ่งในโรงเรียนในโครงการ Samsung Smart Learning Center ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต โครงการเพื่อสังคม ของบริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด ที่ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2556 มีเป้าหมายส่งเสริมและพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ให้แก่เด็กและเยาวชนไทยทั่วประเทศ
โดยนำเทคโนโลยีมาสร้างแรงบันดาลใจ เปิดพื้นที่ในการเรียนรู้ใหม่ๆ รวมทั้งโอกาสในการค้นหาศักยภาพตนเอง เพื่อเตรียมพร้อมก้าวสู่โลกอนาคต รวมถึงแบ่งปันการค้นพบของตนกับชุมชน และสังคมที่อาศัยอยู่ ส้มปี้ มะหนามโก๊ง ผักกูด ผักหนอก เต่าร้าง มะกอกป่า ผักพื้นบ้านเหล่านี้ถึงแม้จะสามารถนำมาประกอบอาหารได้
แต่น้อยคนนักที่จะเคยลิ้มลอง เด็กๆ โรงเรียนขุนยวมวิทยา จังหวัดแม่ฮ่องสอนก็เช่นกัน พวกเขาไม่คุ้นเคยและไม่รู้ว่าผักหลายชนิดที่พบเห็นในพื้นที่สามารถนำมารับประทานได้
คุณครูวัชรชัย ทะสม หรือครูเชเช่ ครูที่ปรึกษาโครงการ โรงเรียนขุนยวมวิทยา จังหวัดแม่ฮ่องสอน เล่าถึงโครงงานการเรียนรู้เรื่อง “ผักพื้นบ้าน” ว่า วัตถุประสงค์หลักของการนำกิจกรรมนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของห้องเรียนแห่งอนาคตก็เพื่ออยากให้เด็กๆ ได้นำผักพื้นบ้านที่ปลอดสารและมีอยู่แล้วในพื้นที่ชุมชนโดยไม่ต้องซื้อหามารับประทาน
ที่สำคัญได้สืบทอดภูมิปัญญาเรื่องพืชพรรณ และอาหารท้องถิ่น รวมทั้งสร้างสรรค์เมนูอาหารใหม่ๆ ขึ้นจากวัตถุดิบที่มีอยู่แล้วในชุมชน โดยได้เริ่มจากชักชวนให้เด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ในซัมซุงดิสคัฟเวอรี่คลับ จำนวน 30 คนเข้าร่วมโครงการนี้
กระบวนการเรียนรู้เริ่มต้นที่เรื่องง่าย ๆ ใกล้ตัว เริ่มโดยครูให้เด็กแบ่งกลุ่มพากันไปเดินตลาด ทำความรู้จักผักพื้นบ้านที่มีวางขาย และให้เลือกผักพื้นบ้านมากลุ่มละชนิด พอเลือกเสร็จ ขั้นต่อไปก็ให้เด็กๆ ระดมสมองกันว่าผักที่เลือกมานี้ทำเป็นอาหารท้องถิ่นอะไรได้บ้าง เราอยากให้เด็กรู้จักผักในแหล่งที่อยู่ในธรรมชาติของมัน จึงพาเด็กไปหาวัตถุดิบจากแหล่งจริง ๆ
จากวัตถุดิบ การเรียนรู้เดินทางมาสู่ขั้นตอนการปรุง ในขั้นตอนนี้ครูมีโจทย์ให้ว่า อาหารท้องถิ่นต้องให้วิทยากรท้องถิ่นเป็นคนสอนให้ทำ อยากให้เด็ก ๆ ได้กลับไปถามพ่อแม่ คนแก่คนเฒ่า ในชุมชนของเขา คุยกันเรื่องอาหารจานดั้งเดิม ว่าเคยทำกินกันแบบไหน ใช้อะไรเป็นเครื่องปรุง
ระหว่างทางของการเรียนรู้ เด็ก ๆ ชิมรสผักพื้นบ้าน มีความขมฝาด รสชาติที่ไม่คุ้นเคยทำให้เด็กๆ สรุปได้ว่าไม่อร่อย ทำให้เกิดโจทย์ใหม่ที่ครูท้าทายลูกศิษย์ให้สร้างสรรค์อาหารสูตรใหม่ในรสชาติที่เด็ก ๆ อยากทานและเป็นอาหารนานาชาติเพื่อชวนให้เด็กๆ ตื่นเต้นสร้างสรรค์อาหารที่แตกต่าง
ตลอดระยะเวลา 10 เดือน เด็ก ๆ ได้ร่วมกันค้นคิดสูตรอาหาร ทดลองปรุง ชิม ปรับสูตร จนกว่าจะได้สูตรอาหารจานใหม่ที่มีผักพื้นบ้านรสชาติที่โดนใจทั้งตัวเอง และเพื่อน ๆ
เด็กชายกรกฏ ลีภาคภูมิพานิชย์ นักเรียนชั้น ม.2 กล่าวว่า สนุกดีครับ ผมไม่เคยกินผักส้มปี้มาก่อน แต่พอต้องมาทำโครงงาน แล้วคิดเมนูก็ต้องชิม ตอนแรกเราทำยำส้มปี้ก่อน มันขมๆ ครับ ผมก็ไม่ค่อยชอบ แต่พอต้องทำเมนูของตัวเอง เป็นส้มปี้โรล ผมว่ารสชาตใช้ได้และทานได้มากกว่าเดิม
เมื่อเวลาการทำโครงงานสิ้นสุดลง ผลงานของนักเรียนได้ถูกจัดแสดงพร้อมกิจกรรมโชว์ปรุงอาหารจานเด็ดจากผักพื้นบ้าน ในงานมหกรรมสุขภาวะ อำเภอขุนยวม ประจำปี 2562 ณ วัดม่วยต่อ สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับคนที่มาร่วมงาน
ซึ่งไม่คาดคิดมาก่อนว่าผักป่าพื้นบ้านนั้นจะแปลงเป็นอาหารจานอินเตอร์ที่เร้าใจอย่าง “ทาโกะยากิผักกูด” “ผักหนอกอบชีส” “ไข่กระทะผักเต่าร้าง” “สเต็กซอสมะกอกป่า” “สลัดโรลส้มปี้” และ “ข้าวผัดอเมริกันมะหนามโก๊ง”
ความสำเร็จไม่ใช่เพียงตำรับอาการผักพื้นบ้านจานนานาชาติ ที่เด็กๆ ลงมือปรุง ชิม คิดปรับสูตรมาอย่างเข้มข้น หรือ ผู้ปกครองในชุมชนที่แวะมาชิมผลงานเด็กๆ ด้วยความตื่นเต้น สิ่งสำคัญคือประสบการณ์การเรียนรู้ที่เด็ก ๆ ไ
ด้เข้าไปสำรวจทุนชีวิตที่มีอยู่ใกล้ตัว ได้แก่ ผักพื้นบ้าน ความรู้ดั้งเดิม และความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่เพื่อปรับให้ของเดิม เช่นผักพื้นบ้าน เพิ่มคุณค่าและกลับมาอยู่ในชีวิตคนรุ่นใหม่อีกครั้ง
ส่วนขยาย
* บทความเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์ในมุมมองที่น่าสนใจ
** เขียน: ชลัมพ์ ศุภวาที (บรรณาธิการ และผู้สื่อข่าว)
*** ขอขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก www.pexels.com
สามารถกดติดตามข่าวสารและบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่ www.facebook.com/itday.in.th