เอบีบี (ABB) เปิดตัว หุ่นยนต์โคบอทรุ่นใหม่ที่จะมาปลดล็อคระบบอัตโนมัติ สำหรับอุตสาหกรรมและผู้ใช้งานครั้งแรก…
ABB เปิดตัวหุ่นยนต์โคบอทรุ่นใหม่ สำหรับอุตสาหกรรม และผู้ใช้งานครั้งแรก
เอบีบีขยายขีดความสามารถของ YuMi® หุ่นยนต์โคบอท หรือหุ่นยนต์ที่สามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ได้ ด้วยหุ่นยนต์โคบอท 2 รุ่นใหม่ ภายใต้ชื่อ โก–ฟา (GoFa™) และ สวิฟท์ติ (SWIFTI™) ธุรกิจจำนวน 8 ใน 10 แห่ง ระบุว่า มีความต้องการเพิ่มปริมาณการใช้งานหุ่นยนต์ในอีก 10 ปีข้างหน้า
ซึ่งการเกิดโรคระบาดก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ช่วยเร่งให้ธุรกิจมีการลงทุนในระบบอัตโนมัติมากขึ้น โดย เอบีบี กำลังขยายผลิตภัณฑ์กลุ่มหุ่นยนต์โคบอท ด้วยหุ่นยนต์ GoFa™ และ SWIFTI™ ซึ่งมีความสามารถในการรับน้ำหนักได้มากขึ้นและทำงานได้เร็วกว่าเดิม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของหุ่นยนต์โคบอทจากเอบีบี
หรือที่รู้จักกันภายใต้ชื่อ YuMi® ที่มีทั้งรุ่นสองแขน และแขนเดียว หุ่นยนต์โคบอทรุ่นใหม่นี้มีความแข็งแรง รวดเร็ว และทำงานได้มากกว่าเดิม ซึ่งจะช่วยเปิดโอกาสให้เอบีบีขยายธุรกิจเข้าไปสู่ภาคส่วนที่มีการเติบโตสูง โดยรวมถึงกลุ่มธุรกิจทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ สาธารณสุข สินค้าอุปโภคบริโภค การขนส่ง อาหาร และเครื่องดื่ม เป็นต้น
อีกทั้งยังช่วยให้รองรับความต้องการใช้งานระบบอัตโนมัติที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยหุ่นยนต์ GoFa™ และ SWIFTI™ ได้รับการออกแบบมาให้ใช้งานง่าย จึงลดความจำเป็นในการพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญด้านการเขียนโปรแกรมเฉพาะทางภายในบริษัทของผู้ใช้งาน
ซึ่งจะช่วยปลดล๊อคศักยภาพในการใช้งานหุ่นยนต์ให้แก่บรรดาธุรกิจต่าง ๆ เพราะสามารถใช้งานหุ่นยนต์โคบอทของพวกเขาได้ภายในเวลาไม่กี่นาทีหลังจากแกะกล่อง และสามารถติดตั้งใช้งานโดยไม่ต้องมีการฝึกอบรมใด ๆ เป็นพิเศษ
ซามิ อาติย่า ประธานกลุ่มธุรกิจหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของเอบีบี กล่าวว่า หุ่นยนต์โคบอทกลุ่มใหม่นี้ เป็นหุ่นยนต์ที่มีความสามารถในการทำงานได้หลากหลายที่สุดในท้องตลาดขณะนี้ ซึ่งจะช่วยเปลี่ยนรูปแบบการทำงานไปอย่างสิ้นเชิง และช่วยให้ลูกค้าของเราเติบโตและเพิ่มผลผลิตได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
“หุ่นยนต์เหล่านี้ถูกออกแบบมาให้ทำการตั้งค่าและใช้งานได้ง่าย และยังมีผู้เชี่ยวชาญจากเอบีบีที่คอยให้ความช่วยเหลือไม่ว่าในรูปแบบออนไลน์หรือคอลเซ็นเตอร์ในหลายประเทศทั่วโลก สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้มั่นใจได้ว่าธุรกิจไม่ว่าขนาดเล็กหรือใหญ่ รวมไปถึงภาคส่วนใหม่ ๆ นอกเหนือไปจากอุตสาหกรรมการผลิต จะเปิดรับหุ่นยนต์เพื่อนำไปใช้งานเป็นครั้งแรก” ซามิ กล่าว
การขยายผลิตภัณฑ์กลุ่มหุ่นยนต์โคบอทของเอบีบีในครั้งนี้ มีเป้าหมายในการช่วยให้ทั้งผู้ใช้งานเดิมและผู้เริ่มใช้งานใหม่สามารถใช้งานระบบอัตโนมัติได้อย่างรวดเร็ว ท่ามกลางความท้าทายในตลาดหลัก 4 ประการ ได้แก่ การที่ผู้บริโภคมีรสนิยมหลากหลายขึ้นเรื่อย ๆ การขาดแคลนแรงงาน การก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัล และความไม่แน่นอน
ซึ่งทั้งหมดล้วนผลักดันให้ธุรกิจต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองและขับเคลื่อนให้ระบบอัตโนมัติเข้าไปสู่ธุรกิจในภาคส่วนใหม่ ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ การขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์ในครั้งนี้เกิดขึ้นจากเป้าหมายทางธุรกิจที่มุ่งเน้นไปยังภาคส่วน หรือธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตสูงด้วยการสร้างนวัตกรรมใหม่ ซึ่งจะช่วยผลักดันการเติบโต และทำกำไรได้
ระบบอัตโนมัติช่วยผลักดันอนาคตแห่งอุตสาหกรรมการผลิต
จากการสำรวจ ธุรกิจขนาดเล็กและใหญ่ทั่วโลกกว่า 1650 แห่ง ทั่วทั้งทวีปยุโรป อเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีน ผลปรากฎว่ากว่า 84% ของธุรกิจเหล่านั้นระบุว่า จะเพิ่มปริมาณการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติภายใน 10 ปีข้างหน้า ขณะที่ 85% กล่าวว่าโรคระบาดเป็น “จุดเปลี่ยน“ สำหรับธุรกิจและอุตสาหกรรมของพวกเขา
โดยเฉพาะการระบาดของโควิด-19 ซึ่งจัดเป็นปัจจัยหลักที่เร่งให้มีการเพิ่มการลงทุนในระบบอัตโนมัติมากขึ้น 43% ของบริษัททั้งหมดกล่าวว่า พวกเขากำลังมองหาหุ่นยนต์มาช่วยยกระดับด้านความปลอดภัยและสาธารณสุขในที่ทำงาน 51% กล่าวว่าหุ่นยนต์น่าจะช่วยให้สามารถรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลได้
และ กว่าหนึ่งในสาม หรือ 36% กำลังพิจารณาการใช้หุ่นยนต์เพื่อเพิ่มคุณภาพการทำงานของพนักงาน และสุดท้าย 78% ของบรรดาผู้บริหารระดับสูงกล่าวว่า การเฟ้นหา และรักษาพนักงานไว้สำหรับงานที่ต้องทำซ้ำ ๆ และงานที่ค่อนข้างบั่นทอนสุขภาพจัดว่าเป็นความท้าทายอย่างหนี่ง
หุ่นยนต์โคบอทได้ถูกออกแบบมาให้ทำงานร่วมกับพนักงานคนอื่น ๆ ได้โดยไม่ต้องมีมาตรการหรือเครื่องป้องกัน อย่างเช่น รั้วกั้น รวมทั้งให้ติดตั้งและใช้งานได้ง่าย ในปี 2019 หุ่นยนต์โคบอทกว่า 22,000 ตัวได้ถูกใช้งานทั่วโลก ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
มีการประมาณการณ์ว่าความต้องการใช้งานหุ่นยนต์โคบอทจะเติบโตโดยเฉลี่ยในอัตรา 17% ต่อปีในระหว่างปี 2020 ถึง 2025 ขณะที่ยอดขายหุ่นยนต์โคบอท คาดว่าจะเติบโตจากประมาณ 0.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2019 ไปเป็น 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2025
ตลาดโลกสำหรับหุ่นยนต์ทุกประเภทนั้นก็คาดว่าจะเติบโตจาก 4.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2020 ไปเป็น 5.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2023 (เฉลี่ยร้อยละ 9 ต่อปี)
หุ่นยนต์ GoFa™ และ SWIFTI™ ออกแบบมาเพื่อช่วยธุรกิจให้ปรับกระบวนการผลิตให้เป็นแบบอัตโนมัติเพื่อช่วยพนักงานในงานเช่น การป้อนชิ้นงานเข้าเครื่องจักร การประกอบชิ้นส่วน และงานบรรจุสินค้าในอุตสาหกรรมผลิต ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ศูนย์รวมการขนส่งและคลังสินค้า เวิร์คช็อป รวมถึงโรงงานขนาดเล็ก
“ในการเพิ่มไลน์ของผลิตภัณฑ์ในครั้งนี้ เราพยายามให้หุ่นยนต์โคบอทใช้งานได้ง่ายขึ้น โดยมีศูนย์บริการคอยให้ความช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา เพื่อช่วยให้นำไปใช้ในธุรกิจได้รวดเร็วขึ้น ไม่ให้เกิดความล่าช้าซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ ที่ผู้ประกอบการไม่เลือกใช้หุ่นยนต์อย่างที่ผ่านมา” อาติย่า กล่าว
“จากประสบการณ์ของเรา การทำงานให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุดนั้น ได้จากการเก็บเกี่ยวทักษะของคน ควบคู่ไปกับการใช้ศักยภาพของเทคโนโลยีใหม่ ๆ“
สำหรับผู้ใช้งานที่คุ้นเคยกับการใช้แท็ปเล็ตหรือสมาร์ทโฟน จะสามารถตั้งโปรแกรมและปรับเปลี่ยนโปรแกรมหุ่นยนต์โคบอทรุ่นใหม่นี้ได้อย่างง่ายดาย ด้วยการใช้งานเครื่องมือตั้งค่าเริ่มต้นแบบรวดเร็วของเอบีบี ผู้ใช้งานยังสามารถขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญของเอบีบีจากทุกมุมโลก
ซึ่งได้รับการฝึกอบรมการติดตั้งหุ่นยนต์มากว่า 500,000 แบบตั้งแต่ปี 1974 รวมทั้งได้รับความช่วยเหลือจากเครือข่ายพันธมิตรของเอบีบีกว่า 1,000 รายทั่วโลก
หุ่นยนต์ GoFa™ และ SWIFTI™ รุ่นใหม่นี้สร้างขึ้นโดยการต่อยอดมาจากความสำเร็จของหุ่นยนต์ตระกูล YuMi® หรือหุ่นยนต์โคบอทที่สามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ได้อย่างแท้จริงตัวแรกของโลกจากเอบีบี ซึ่งได้ช่วยธุรกิจจัดการงานหลัก ๆ ด้วยความปลอดภัยมาตั้งแต่เปิดตัว เมื่อปี 2015
ทุกวันนี้หุ่นยนต์ YuMi ของ เอบีบี จะทำงานร่วมกับพนักงานในโรงงาน เวิร์กช็อปและห้องปฏิบัติการทั่วทุกมุมโลก ปฏิบัติงานตั้งแต่ขันน็อต ประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงวาล์วและอุปกรณ์ USB รวมทั้งทดสอบเชื้อโควิดจากตัวอย่างที่เก็บมาในห้องปฏิบัติการ
ในการติดตั้งหุ่นยนต์โคบอทของเอบีบีทุกตัว จะมีโปรแกรมเริ่มใช้งานซึ่งมีหน่วยเชื่อมต่อข้อมูลแบบดิจิทัล เอบีบี Ability™ ที่คอยติดตามเก็บข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูล รวมทั้งมีสายด่วนไปยังศูนย์บริการเพื่อติดต่อผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิค ซึ่งไม่มีค่าบริการสำหรับ 6 เดือนแรก และคอยให้ความช่วยเหลือในทุกภาคส่วนอุตสาหกรรม
ส่วนขยาย * บทความเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์ในมุมมองที่น่าสนใจ ** เขียน: ชลัมพ์ ศุภวาที (บรรณาธิการ และผู้สื่อข่าว) *** ขอขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก N/A
สามารถกดติดตามข่าวสารและบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่ www.facebook.com/itday.in.th