บีดีไอ (BDI) ผนึกกำลังภาครัฐ-เอกชน ชู 3 แพลตฟอร์มวางโรดแมปขับเคลื่อน “ภูเก็ต” สู่เมืองต้นแบบด้านความยั่งยืนในทุกมิติ ด้วย Big Data และ AI…
BDI ผนึกกำลังภาครัฐ–เอกชน ชู 3 แพลตฟอร์ม พร้อมวางโรดแมปขับเคลื่อน “ภูเก็ต” สู่เมืองต้นแบบด้านความยั่งยืน
สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ บีดีไอ (BDI) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม (ดีอี) ผนึกกำลังภาคีเครือข่ายภาครัฐ และเอกชนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ร่วมแถลงทิศทางการดำเนินงาน และความร่วมมือในการใช้ประโยชน์จาก Big Data และ AI
เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม วางยุทธศาสตร์ ชู 3 แพลตฟอร์มร่วมบูรณาการพัฒนาเมืองภูเก็ตอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ได้แก่ โครงการแพลตฟอร์มบริการข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Envi Link) โครงการแพลตฟอร์มข้อมูลอัจฉริยะด้านท่องเที่ยวแห่งชาติ (Travel Link)
และ โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลเมืองอัจฉริยะ (Smart Data Analytics Platform) พร้อมประกาศเดินหน้าขยายความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อวางโรดแมป ผลักดันจังหวัดภูเก็ตสู่การเป็นเมืองต้นแบบด้านความยั่งยืนในทุกมิติอย่างสมบูรณ์แบบ
โสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า งานแถลงข่าววันนี้ถือเป็นเวทีสำคัญที่แสดงถึงความมุ่งมั่นและวิสัยทัศน์ของจังหวัดภูเก็ต ทั้งภาครัฐ และเอกชน ในการใช้ข้อมูล และเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต
ภูเก็ตเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีศักยภาพสูง ทั้งในด้านการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจ การนำ Big Data มาใช้เพื่อวางแผน และพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคม จะช่วยเสริมสร้างโอกาสในการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัด
ทั้งนี้ทุกภาคส่วนในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมล้วนให้ความร่วมมือกันอย่างสามัคคี สะท้อนถึงความพร้อมในการร่วมใจกันที่อยากจะเห็นพื้นที่ของตนเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุก ๆ ด้าน
ดัน 3 แพลตฟอร์ม บูรณาการพัฒนาเมือง “ภูเก็ต” สู่ความยั่งยืน
รศ. ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ เปิดเผยว่า ภารกิจสำคัญของ บีดีไอ คือ การกำหนดยุทธศาสตร์ในการนำประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่หรือ Big Data ที่ผ่านกระบวนการวิเคราะห์มาขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
รวมถึงการส่งเสริม และแสวงหาความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ และนำไปสู่การพัฒนาเมืองในมิติต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ การเริ่มต้นทำโครงการในจังจังหวัดภูเก็ตเนื่องจาก จังหวัดภูเก็ต ถือเป็นเมืองท่องเที่ยว
ที่เป็นจุดหมายปลายทางอันมีชื่อในหมู่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลก นอกจากจะนำเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ประเทศซึ่งก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม ในอีกแง้มุมก็ถือเป็นเมืองที่ได้รับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการใช้ทรัพยากรเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
ไม่ว่าจะเป็น ปริมาณการใช้รถ ใช้ถนนเพื่อเดินทางสัญจร การใช้ไฟฟ้า และน้ำ ที่มาก เพื่อให้เพียงพอรองรับความต้องการของจำนวนนักท่องเที่ยว รวมถึงปัญหาขยะอันเนื่องมาจากการบริโภคของคนที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่ แต่ละกิจกรรมเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกิดคาร์บอนฟุตพรินต์ในปริมาณที่มาก
ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่เป็นระบบเพื่อให้สามารถลดปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอนในภาพรวมที่มีประสิทธิภาพ เพื่อจัดการผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเติบโตของเศรษฐกิจของเมือง ก่อนจะสร้างผลต่อคุณภาพชีวิตทั้งนักท่องเที่ยว และประชาชนในพื้นที่ รวมถึงทางเศรษฐกิจของจังหวัดในอนาคต
ดังนั้น บีดีไอ จึงได้จัดตั้ง 3 โครงการหลักที่ใ้ประโยชน์จากข้อมูลจำนวนมหาศาล (Big Data) มาวิเคราะห์ และปรับปรุงแนวทางการดำเนินเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของผู้คนภายในเมืองของจังหวัดภูเก็ต โดย 3 โครงการ ที่ บีดีไอ จะทำร่วมกับภาครัฐ และเอกชนในพื้นที่ มีดังต่อไปนี้
โครงการแพลตฟอร์มบริการข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Envi Link)
บีดีไอ จะร่วมกับ มูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน เทศบาลนครภูเก็ต และ ชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต จัดทำ “โครงการความเป็นกลางทางคาร์บอน เมืองเก่าภูเก็ต” ภายใต้โครงการนี้ บีดีไอ จะเดินหน้าในการรวบร่วมข้อมูลด้านสภาพสิ่งแวดล้อมของตัวเมืองภูเก็ตทั้งหมด
ไม่ว่าจะเป็น ปริมาณการใช้น้ำประปา การใช้ไฟฟ้า การบริหารจัดการขยะ ปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง คุณภาพอากาศของพื้นที่ ฯลฯ ที่ส่งผลสำคัญต่อคาร์บอนฟุตพรินต์ของเมือง และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) วิเคราะห์ถประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์อย่างง่าย ผ่านการใช้ภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV)
มาพัฒนาโมเดลจำแนกประเภทยานพาหนะกลุ่มที่ใช้น้ำมันดีเซล เช่น รถบรรทุก รถกระบะ ฯลฯ ออกจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซิน แล้วนับจำนวนรถแต่ละประเภทที่ผ่านเข้ามาในพื้นที่ เพื่อประมาณการให้กลายเป็นปริมาณเชื้อเพลิงที่ใช้แล้วคำนวณให้เป็นคาร์บอนฟุตพรินต์ ที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาต่าง ๆ กัน
มานำเสนอผ่านแดชบอร์ดแสดงผลข้อมูล ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ รวมถึงคนในพื้นที่สามารถเห็นแนวโน้ม และทิศทางการเปลี่ยนแปลง และวางแผนการบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสม และจะใช้ AI ในการนับจำนวนคนที่ผ่านเข้ามาในพื้นที่ภูเก็ตย่านเมืองเก่า เพื่อประมาณการความหนาแน่นของนักท่องเที่ยว
ในช่วงเวลา และวันที่แตกต่างกัน ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานของเมืองสามารถช่วยให้เกิดการบริหารจัดการพื้นที่ได้เหมาะสม โดย บีดีไอ วางเป้าหมายเพื่อพัฒนาจังหวัดภูเก็ตสู่ต้นแบบเมืองท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ พร้อมตั้งเป้าลดคาร์บอน 30% ภายใน 3 ปี ก่อนจะขยายผลไปยังจุดท่องเที่ยวอื่น ๆ ต่อไป
นอกจากนี้ยังได้มีแผนต่อยอดการใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าวเพิ่มเติม โดยได้มีการทำงานร่วมกับ บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด (Phuket City Development Co., Ltd.: PKCD) เพื่อพัฒนาการให้บริการ Smart Bus EV แก่ประชาชน และนักท่องเที่ยวในย่านพื้นที่เมืองเก่า
โดยจะใช้ข้อมูลภาพจาก CCTV และข้อมูลจากระบบ GPS ที่ติดตั้งบนรถบัส เพื่อประมาณการจำนวนผู้โดยสารของแต่ละจุดจอดตามช่วงเวลาต่าง ๆ และนำไปวางตำแหน่งจุดจอดรถ หรือ ตารางเดินรถ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดปัญหาความหนาแน่นของการจราจร และลดมลพิษทางอากาศตัวเมืองลงได้
โครงการแพลตฟอร์มข้อมูลอัจฉริยะด้านท่องเที่ยวแห่งชาติ (Travel Link)
นอกจากนี้ บีดีไอ จะดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐ และเอกชนกว่า 20 หน่วยงาน ประยุกต์ใช้แพลตฟอร์ม แพลตฟอร์มข้อมูลอัจฉริยะด้านท่องเที่ยวแห่งชาติ โดยจะเชื่อมข้อมูลท่องเที่ยวให้ถึงกันผ่าน www.travellink.go.th
โดย บีดีไอ ได้รวบรวมข้อมูลของการเดินทาง การพักแรม การใช้จ่าย และกระแสจากสื่อโซเชียล มาทำการวิเคราะห์ให้ทราบถึงการแสดงความคิดเห็นของนักท่องเที่ยว จำนวนผู้มาเยี่ยมเยือน สถิติผู้โดยสารผ่านสนามบิน และยังมีการแสดงผลสถิติผ่านอินโฟกราฟิก ที่อัปเดตรายวัน และรายเดือน
และนำเสนอแดชบอร์ดข้อมูลท่องเที่ยวซึ่งจะทำให้เมืองสามารถซึ่งทำให้เห็นภาพรวมของข้อมูลได้ง่ายขึ้น สามารถช่วยผู้ประกอบการในการตัดสินใจ และแก้ไขปัญหาได้ดียิ่งขึ้น ขยายขีดความสามารถ และการแข่งขันให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทย ที่มีแดชบอร์ดข้อมูลท่องเที่ยวมากกว่า 150 แดชบอร์ด
ซึ่งนอกจากจังหวัดภูเก็ตแล้ว ยังครอบคลุมอีกกว่า 40 จังหวัดทั่วประเทศ ทำให้เกิด Sustainable Tourism ที่สามารถเพิ่มรายได้ให้กับภาคเอกชนที่ร่วมใช้ประโยชน์ข้อมูลจากแพลตฟอร์ม Travel Link มีมูลค่ามากกว่า 120 ล้านบาทต่อปี รวมถึงการนำข้อมูลไปใช้ประกอบในการกำหนดนโยบายระดับประเทศ
เช่น การนำข้อมูลการท่องเที่ยวไปการกำหนดนโยบายฟรีวีซ่า (Free Visa) ในอนาคตต่อไป ซึ่งปัจจุบันทางรัฐบาลอนุญาติให้แก่นักท่องเที่ยวชาวจีน และคาซัคสถาน ทำให้มีนักท่องเที่ยวมากขึ้นกว่าปี 2023 โดยมีมูลค่ามากกว่า 3 พันล้านบาท
โครงการแพลตฟอร์มข้อมูลเมืองอัจฉริยะ (Smart Data Analytics Platform : CDP)
ภายใต้โครงการในเฟสที่ 1 บีดีไอ จะร่วมมือกับ สำนักงานสถิติจังหวัดภูเก็ต เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกัน และภาครัฐกับภาคเอกชน เพื่อให้เกิดระบบข้อมูลกลาง และนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการวางแผนงานที่ตอบรับกับนโยบายของจังหวัด
โดยจะรวบรวม เชื่อมโยง จัดเก็บ ประมวลผลข้อมูล เช่น ข้อมูลด้านการท่องเที่ยว ด้านสุขภาพ ด้านสิ่งแวดล้อม มาใช้ในการวิเคราะห์ และแก้ไขปัญหาให้ตรงกับความต้องการของเมืองได้อย่างทันท่วงที พร้อมนำไปสู่การต่อยอดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างเป็นรูปธรรม
โดยในระยะแรกได้ออกแบบพิมพ์เขียวและสถาปัตยกรรมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาคลาวด์ พร้อมอบรม และสาธิตการใช้งานคราวด์ และแดชบอร์ดให้กับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานในจังหวัดภูเก็ต เพื่อให้บริการ และวางแผนการดำเนินงานในปัจจุบัน และอนาคต ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับเป้าหมายในเฟสที่ 2 ทาง บีดีไอ มีแผนที่จะขยายความสำเร็จที่เกิดขึ้นจาก เฟส 1 เพื่อไปประยุกต์ใช้ในจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป โดยมีเป้าหมายอยู่ที่อีก 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี, จังหวัดนครศรีธรรมราช, จังหวัดสระบุรี, จังหวัดอุตรดิตถ์ และจังหวัดสงขลา เป็นต้น
“ทิศทางการดำเงินงานของ บีดีไอ ร่วมกับจังหวัดภูเก็ต ยังคงมุ่งเน้นส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ในการพัฒนาเมืองอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะยกระดับขยายความร่วมมือไปยังภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชนให้กว้างยิ่งขึ้น
รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มที่สามารถรองรับ และตอบโจทย์กับการใช้งานในพื้นที่ได้อย่างสูงสุด โดยมีเป้าหมายสำคัญที่จะทำให้จังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองต้นแบบด้านความยั่งยืน และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับจังหวัดอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต” รศ. ดร.ธีรณี กล่าว
ส่วนขยาย * บทความเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์ในมุมมองที่น่าสนใจ ** เขียน: ชลัมพ์ ศุภวาที (บรรณาธิการ และผู้สื่อข่าว) *** ขอขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก N/A
สามารถกดติดตามข่าวสาร และบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่ www.facebook.com/itday.in.th