บริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน) (NETbay) และมหาวิทยาลัยมหิดล (MU) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. (NSTDA) เผยถึงความพร้อมในการนำหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัจฉริยะ “Hapybot” เข้าช่วยงานด้านการแพทย์ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหา ในขณะที่บุคลากรทางการแพทย์มีงานล้นมือในช่วงสถานการณ์ Covid-19…
highlight
- บริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน) ส่งมอบหุ่นยนต์ Hapybot หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัจฉริยะผู้ช่วยแพทย์ จำนวน 3 ตัว เพื่อนำไปใช้งานจริงภายในโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล 3 แห่ง คือ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
- มหาวิทยาลัยมหิดล เล็งใช้งาน Hapybot เพื่อช่วย แพทย์ และพยาบาล ลดการสัมผัสผู้ป่วยติดเชื้อ ด้วยการใช้ขนส่งอาหาร อุปกรณ์ทางการแพทย์ และเวชภัณฑ์ยา พร้อมทั้งใช้เป็นเครื่องในการติดตามคนไข้ ดูแล และพยาบาลบนหอผู้ป่วย ไปด้วยในตัว
NETbay ส่ง 3 หุ่นยนต์ “Hapybot” ให้มหาวิทยาลัยมหิดล
ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่ามหาวิทยาลัยมหิดล มียุทธศาสตร์สำคัญหลายประการที่จะช่วยขับเคลื่อน และร่วมพัฒนาประเทศ พร้อมที่จะนำ องค์ความรู้ต่าง ๆ ช่วยเหลือสนับสนุนเมื่อเกิดปัญหา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ Covid–19 รวมทั้งการสร้างความร่วมมือกับทั้งภาครัฐ และเอกชนในการต่อยอดผลงานวิจัยต่าง ๆ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหา ในขณะที่บุคลากรทางการแพทย์มีงานล้นมือ ต้องปฏิบัติหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง
ซึ่งเทคโนโลยีทางด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์มีส่วนช่วยบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างมาก จึงถูกนำมาใช้ในโรงพยาบาลเพื่อทำงานร่วมกับมนุษย์ เพื่อช่วยลดการสัมผัสผู้ป่วยติดเชื้อ สามารถใช้ในการติดตามคนไข้บนหอผู้ป่วย ใช้ในการดูแลและการพยาบาล ใช้ขนส่งอาหาร อุปกรณ์ทางการแพทย์ และเวชภัณฑ์ยา
สิ่งเหล่านี้ คือ เหตุผลความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วนของการที่ต้องนำหุ่นยนต์เข้ามาช่วยงานมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยง และช่วยแบ่งเบาภารกิจของบุคลากรของทางโรงพยาบาล
“ฮาปี้ บอท” ผู้ช่วยแพทย์อัจฉริยะ
พิชิต วิวัฒน์รุจิราพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เราต้องการผลิตหุ่นยนต์ของไทยรุ่นแรกที่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยที่จะใช้งานใน รพ.ได้ ภายใต้แนวคิด “Better Faster Cheaper” หุ่นยนต์ “ฮาปี้ บอท“ (Hapybot) จึงถูกคิดค้นให้ทำหน้าที่ขนส่ง นำทาง เคลื่อนที่อิสระ
เพื่อขนส่ง ยา วัคซีน และเวชภัณฑ์การแพทย์ อาหาร รวมถึงสิ่งของ อื่น ๆ ได้ ตัวหุ่นยนต์มีช่องเก็บแบบปิด,เปิดและล็อคด้วยไฟฟ้า ขนาดจุ 17 ลิตร รองรับน้ำหนักบรรทุกได้ 10–15 กิโลกรัม ในช่องเก็บของในตัวหุ่นยนต์สามารถใส่ประเภทน้ำได้ เพราะเป็นช่องหล่อในตัวชิ้นเดียว ไม่มีรอยต่อ กันน้ำไม่ให้รั่วไปกระทบยังระบบหุ่นยนต์
สามารถสั่งการผ่านหน้าจอสัมผัสบนตัวหุ่นยนต์ และหรือสั่งการด้วย Computer web base หรือ Tablet หรือ Mobile application หรือ QR code ได้ โดยไม่ต้องเชื่อมต่อกับระบบ network ของโรงพยาบาล ทำให้การจัดส่งยาไปยังที่หมายได้หลายที่ ขึ้นกับคำสั่งการใช้งาน
ในด้านความเร็วเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์จะเร็วประมาณ 2.5 ถึง 3 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง สามารถหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้แบบ real time และไม่เกิดอุบัติเหตุต่อผู้มารับบริการ บุคลากร คนป่วยนั่งรถเข็นอุปกรณ์ วัสดุ เครื่องใช้ และเฟอร์นิเจอร์ในโรงพยาบาล
มีระบบตรวจการยกหุ่นยนต์ แจ้งเป็นเสียงเตือน เมื่อมีการกระทำการกับตัวหุ่นยนต์ เช่น ยก โยก คว่ำ หุ่นยนต์ ทางหุ่นยนต์ก็จะส่งเสียงร้อง หุ่นยนต์สามารถสร้างแผนการเดินทางได้เองอัตโนมัติ สามารถกำหนดพื้นที่ที่ต้องการหลีกเลี่ยงการเดินทางได้ หรือใช้ระบบ AI เข้ามาช่วยตัดสินใจเส้นทางใหม่
เมื่อมีอุปสรรคก็สามารถเปลี่ยนเส้นทางอัตโนมัติ อีกทั้งตัวหุ่นยนต์ยังมีความสามารถทำงานได้ต่อเนื่อง โดยไม่ชาร์จแบตนานถึง 210 นาที (3ชม.ครึ่ง) และกลับแท่นชาร์จได้เองโดยอัตโนมัติ เมื่อหุ่นยนต์ทำงานเสร็จ มีพอร์ตชาร์จไฟฉุกเฉิน เมื่อหุ่นยนต์เกิดปัญหา หรือพลังงานหมดกลางทาง
มีวิธีปลดล็อคช่องเก็บของฉุกเฉิน มีระบบล็อคการเปิดเครื่องด้วยกุญแจ สามารถตั้งความดังของเสียง และจำแนกความดังของเสียงทั้งเวลากลางวัน และกลางคืนได้ รวมทั้งกำหนดเสียงได้ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ
สามารถเชื่อมต่อกับระบบลิฟท์ได้ เรียกลิฟท์ด้วยหุ่นยนต์เองให้ลิฟท์มารับที่ชั้นที่หุ่นยนต์ยืนรออยู่ และรองรับ ” ร่อง” พื้นต่อเนื่องของลิฟท์กับพื้นของชั้นมีระดับ 1 นิ้ว และพื้นต่างระดับ 1.5 ซม. รองรับการขึ้นลงทางลาดเอียง 5 องศา มีล้อช่วยเบรก และทรงตัว
อีกทั้งยังสามารถเชื่อมต่อ เพื่อสั่งการกับประตูห้องผู้ป่วยแบบอัตโนมัติได้ (เปิดปิดประตูอัตโนมัติได้โดยไม่ต้องใช้คนไปช่วยเปิดปิดประตู) ด้วยอุปกรณ์เสริม เพื่อเปิดประตูบานสวิง ในกรณีประตูไม่เป็นประตูอัตโนมัติ และสั่งการจากหุ่นยนต์ได้ด้วยระบบ Access control
สามารถตั้งรหัสผ่าน ขาสั่งการเพื่อป้องกันการใช้งานจากผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตได้ และขารับป้องกันการสูญหายของยา อื่น ๆ นอกจากนี้ยังสามารถติดอุปกรณ์เสริม เพื่อสแกนบัตรผู้รับยา แบบ RFID ได้
ทั้งนี้ทางโรงพยาบาลสามารถเพิ่มสิทธิ์เองได้ สามารถตรวจสอบ และออกรายงาน สามารถออกรายงานวันที่ เวลาที่ส่ง/รับยา จุดเริ่มต้น/ปลายทาง ระยะทาง ระยะเวลา รวมทั้งผู้ส่ง รับของได้ ในด้านความปลอดภัยนั้น “ฮาปี้ บอท“ ได้ผ่านการตรวจสอบจากทางสถาบันไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ (สวทช) หรือ PTEC ในด้านต่าง ๆ
เช่น มาตรฐานแบตเตอร์รี่ในหุ่นยนต์จะมีมาตรฐานความปลอดภัยที่สูง ไม่เกิดระเบิดเมื่อชาร์จไฟเพิ่ม, ระบบไฟฟ้า ไม่ส่งสัญญาณไฟฟ้าที่ปล่อยคลื่นความถี่รบกวนอุปกรณ์ทางการแพทย์ของ รพ., ระบบซอฟต์แวร์และระบบปฎิบัติการสั่งงานมีมาตรฐาน
ถือเป็นหุ่นยนต์ตัวแรกของประเทศไทย ที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยในการใช้ งานภายในรพ.อย่างเป็นทางการ (มาตรฐานความปลอดภัยเบื้องต้น) ในช่วง Covid–19 ซึ่งในอนาคตเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยที่ดีมากขึ้นในอนาคต “ฮาปี้ บอท“ ยังจะต้องพัฒนาต่อเนื่อง และเข้าตรวจสอบอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง
ในครั้งนี้เน็ตเบย์ได้ส่งมอบหุ่นยนต์ “ฮาปี้ บอท“ ให้กับ รพ. เวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัย มหิดล, รพ. ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และ รพ. คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์
หลังจากนั้นทางเน็ตเบย์จะเร่งจัดหารพ.อีก 7 แห่งเพื่อรับมอบหุ่นยนต์เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในรพ.อย่างเร่งด่วนต่อไป
“ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการพัฒนาหุ่นยนต์หลายตัว โดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะเวชศาสตร์เขตร้อน และคณะอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผลการทดลองใช้พบว่ามีประสิทธิภาพสูง
แต่เนื่องจาก มหาวิทยาลัยมีโรงพยาบาลในสังกัดหลายแห่ง การได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน จึงถือเป็นความร่วมมือช่วยเหลือการปฏิบัติงานของทีมบุคลากรทางการแพทย์อีกทางหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพที่ดีในการรักษาพยาบาล และสร้างความปลอดภัยให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ต่อไป” นายแพทย์บรรจง กล่าวเสริม
ส่วนขยาย * บทความเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์ในมุมมองที่น่าสนใจ ** เขียน: ชลัมพ์ ศุภวาที (บรรณาธิการ และผู้สื่อข่าว) *** ขอขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก www.pexels.com
สามารถกดติดตามข่าวสารและบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่ www.facebook.com/itday.in.th