ติ๊ก ต๊อก (TikTok) ผนึกกำลังครีเอเตอร์ และผู้เชี่ยวชาญ ยกระดับสุขภาวะจิตคนไทยผ่านชุมชนออนไลน์ พร้อมส่งมอบแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ ให้คนไทย “จิตดี” และ “มีความรับผิดชอบ”…
TikTok ผนึกกำลังครีเอเตอร์ และผู้เชี่ยวชาญ ยกระดับสุขภาวะจิตคนไทยผ่านชุมชนออนไลน์
ติ๊ก ต๊อก ยืนหยัดที่จะสร้างคอมมูนิตี้แห่งการสนับสนุนซึ่งกัน และกัน ซึ่งผู้คนสามารถแบ่งปันเรื่องราวการดูแลสุขภาวะของตนเองได้อย่างเปิดเผย พร้อมทั้งเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ โดย ติ๊ก ต๊อก ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการต่อต้านข้อมูลผิดเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจิต
ผ่านการเปิดตัว โครงการ “Mindful Makers” ในประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจในการทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางความรู้ชั้นนำด้านสุขภาพจิตในโลกโซเชียลมีเดีย ด้วยการรวบรวมครีเอเตอร์ชั้นนำ และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต มาร่วมสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ และปลอดภัยในการส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดี และสนับสนุนผู้ใช้งาน
![TikTok](https://www.itday.in.th/wp-content/uploads/2024/10/TikTok-World-Mental-Health-Day-2024.jpg)
จากข้อมูลการสำรวจโดย lovefrankie[1] ในประเด็นด้านสุขภาพจิตของเยาวชนไทยเผยว่า เยาวชนส่วนใหญ่แสดงออกถึงความต้องการข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน และเชื่อถือได้ ตอกย้ำถึงความสำคัญของการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง และน่าเชื่อถือในโลกโซเชียลมีเดีย
เพื่อส่งเสริมความเข้าใจ และการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยพวกเขาให้คุณค่ากับคอนเทนต์ที่สร้างการซัพพอร์ททางอารมณ์และความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของคอมมูนิตี้ รวมถึงการได้มีส่วนร่วมแบ่งปันเรื่องราวจากชีวิตจริงในรูปแบบที่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน
นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังแสดงให้เห็นว่า 85% ของผู้ตอบแบบสอบถามใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นที่ตนสนใจ
ชนิดา คล้ายพันธ์ Head of Public Policy ติ๊ก ต๊อก ประเทศไทย
ชนิดา คล้ายพันธ์ Head of Public Policy ติ๊ก ต๊อก ประเทศไทย กล่าวว่า มีผู้คนนับล้านเข้ามาที่ ติ๊ก ต๊อก ทุกวันเพื่อแบ่งปัน และค้นหาคอมมูนิตี้ที่ตรงกับความสนใจ รวมทั้งด้านความเป็นอยู่ที่ดีทั้งทางร่ายกาย และจิตใจ เรามุ่งมั่นเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ใช้แพลตฟอร์มสามารถค้นหาข้อมูลที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับประเด็นที่สำคัญนี้
ในวันนี้เราจึงมีความยินดีเป็นอย่างมากที่ได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทย, แอพพลิเคชั่น SATI และเครือข่ายผู้สร้างคอนเทนต์เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ เพื่อส่งเสริมความมุ่งมั่นนี้ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นผ่านการนำคอนเทนต์ที่น่าสนใจ และเชื่อถือได้เกี่ยวกับสุขภาวะทางจิตใจมาสู่ชุมชนของเรา
มุ่งสนับสนุนสุขภาวะจิตในคอมมูนิตี้
ด้วยการเป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลก ติ๊ก ต๊อก มีความมุ่งมั่นที่จะช่วยให้ชุมชนสามารถจัดการกับความเป็นอยู่ที่ดีโดยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อประเด็นการสนทนานี้ และสนับสนุนในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้
นับจาก ศูนย์ความปลอดภัย ไปจนถึง PSA ในแอป ติ๊ก ต๊อก ได้มอบการเข้าถึงแหล่งข้อมูลด้านความเป็นอยู่ที่ดีที่เชื่อถือได้ นับเป็นความภาคภูมิใจของเราที่ได้นำเสนอคู่มือศูนย์ความปลอดภัยเกี่ยวกับหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต และความเป็นอยู่ที่ดี
ซึ่งที่ผ่านมา ติ๊ก ต๊อก ได้ทำหน้าที่เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับผู้คนมากกว่า 500,000 คนในแต่ละเดือน มากไปกว่านั้น ติ๊ก ต๊อก เชื่อว่าความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์มีความสำคัญอย่างมาก โดยได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้เชี่ยวชาญ พันธมิตร และองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยภารกิจทางสังคมทั่วทุกมุมโลก
เพื่อแบ่งปันข้อมูลที่เชื่อถือได้ และให้ผู้คนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลด้านความเป็นอยู่ที่ดี อาทิ Well–being Guide ของ ติ๊ก ต๊อก และยังคงส่งเสริมให้เกิดคอมมูนิตี้ออนไลน์ที่มีสุขภาวะที่ดีอย่างต่อเนื่อง
ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็ก และวัยรุ่น รองโฆษกกระทรวงสาธารณสุข และ TikTok Safety Advisory Councils
ทางด้าน ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็ก และวัยรุ่น รองโฆษกกระทรวงสาธารณสุข และ TikTok Safety Advisory Councils กล่าวว่า การใช้สื่อในเชิงบวกและปลอดภัย สามารถส่งผลดีต่อสุขภาพจิตของคนทุกเพศทุกวัยอย่างมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กวัยรุ่น ที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบทางลบต่อจิตใจสูงกว่าวัยอื่น พ่อแม่ ผู้ปกครอง จึงควรมีความรับผิดชอบในการดูแลการเลือกรับชมสื่อของเด็ก รวมถึงครีเอเตอร์ และผู้ผลิตสื่อทุกคนนั้นก็ควรให้ความสำคัญต่อการผลิตคอนเทนต์อย่างมีความรับผิดชอบ
สำหรับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่าง ติ๊ก ต๊อก นับว่ามีศักยภาพที่จะเชื่อมต่อคนทั้งประเทศ และสร้างประสบการณ์เชิงบวกแก่ผู้ใช้ได้ดี โดยการช่วยกันสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่จะช่วยสร้างการตระหนักรู้เรื่องการดูแลสุขภาพจิตด้วยตัวเอง ตลอดจนถึงการเอาใจใส่คนรอบข้าง และคนที่เราพบเจอบนโลกออนไลน์ เพื่อสร้างสังคมออนไลน์ให้เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความสุขสำหรับทุกคน
แจน วรินรำไพ ไตรพัชรพัฒน์ ตัวแทนครีเอเตอร์ ในโครงการ Mindful Makers
แจน วรินรำไพ ไตรพัชรพัฒน์ (@janjanuary1) ตัวแทนครีเอเตอร์ Mindful Makers กล่าวว่า ในฐานะครีเอเตอร์ที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก เราใส่ใจ และตระหนักถึงความรับผิดชอบที่มีต่อผู้ชมในคอมมูนิตี้ของเราอยู่เสมอ การได้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Mindful Makers จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ใช้ช่องทางของเรา
ในการรณรงค์ให้ผู้ติดตาม และผู้ใช้ทุกคนหันมาใส่ใจการดูแลสุขภาพจิตมากขึ้น เราหวังว่าจะสามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการพูดคุยเรื่องสุขภาพจิตอย่างเปิดเผย และเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ใช้ ติ๊ก ต๊อก มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในคอมมูนิตี้โลกออนไลน์ที่มีแต่ความสุขกันค่ะ
หนึ่ง ปฐมาภรณ์ ตันจั่นพงศ์ อีกหนึ่งตัวแทนครีเอเตอร์ ในโครงการ Mindful Makers
ขณะที่ หนึ่ง ปฐมาภรณ์ ตันจั่นพงศ์ (@this.is.neung) อีกหนึ่งในตัวแทนครีเอเตอร์ในโครงการ Mindful Makers ผู้เชี่ยวชาญด้านการไลฟ์สตรีมมิ่ง กล่าวว่า รู้สึกตื่นเต้นมากค่ะที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Mindful Makers ปกติแล้วใช้ก็จะใช้ ติ๊ก ต๊อก ไลฟ์ ในการแบ่งปันคอนเทนต์เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพจิต สุขภาพ
และการพัฒนาตนเองมาระยะหนึ่งแล้ว สำหรับโครงการนี้ก็หวังว่าจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่น ๆ และอยากชวนทุกคนมาร่วมกันสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของการดูแลตนเอง และการดูแลสุขภาพอารมณ์ร่วมกัน มองว่าเราสามารถส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีขึ้นในชุมชนออนไลน์กันได้
ซึ่ง ติ๊ก ต๊อก ไลฟ์ ไม่ใช่แค่แพลตฟอร์มสำหรับความบันเทิงแบบเรียลไทม์เท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือที่มีอิทธิพลสำหรับการศึกษาและส่งเสริมกัน และกัน ซึ่งจะช่วยให้ผู้คนเข้าใจถึงคุณค่าของสุขภาพจิตในพื้นที่ดิจิทัลได้นอกจากนี้ยังมีครีเอเตอร์ภายใต้โครงการอีกหลายท่าน
ได้แก่@ppeachy28 @dr.tangmakkaporn @tam.kulissara @caraunited และ @kruyuy.supaporn ที่จะมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์ และเผยแพร่ข้อมูลด้านสุขภาพจิตที่เชื่อถือได้บน ติ๊ก ต๊อก
![TikTok](https://www.itday.in.th/wp-content/uploads/2024/10/couple-bench-using-social-media.jpg)
โครงการ Mindful Makers โดย ติ๊ก ต๊อก ก่อตั้งขึ้นในฐานะโครงการริเริ่มระดับชาติในประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนเชิงกลยุทธ์จากเอเจนซี่เชิงสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่าง lovefrankie เพื่อส่งเสริมการตระหนักรู้ และทักษะความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพจิต
โดยโครงการริเริ่มนี้ยังสอดคล้องกับความร่วมมือระดับโลกของ ติ๊ก ต๊อก กับองค์การอนามัยโลก (WHO – World Health Organization) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อมอบข้อมูลด้านสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้ และมีหลักฐานอ้างอิงแก่ผู้คน
[1] การสำรวจดำเนินการโดย Love Frankie ในปี 2567 โดยใช้วิธีการแบบผสมผสาน ประกอบด้วยการสำรวจออนไลน์กับผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นเยาวชนไทยจำนวน 500 คน (อายุ 16-24 ปี) โดยมีสัดส่วนเพศชาย และหญิงเท่ากัน การสำรวจมุ่งศึกษาการรับรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิต แรงจูงใจ และอุปสรรคในการมีส่วนร่วมกับเนื้อหาบนโซเชียลมีเดีย ความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลด้านสุขภาพจิต และผลกระทบของข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง นอกจากนี้ยังมีการรวบรวมข้อมูลงานวิจัยต่าง ๆ เกี่ยวกับสุขภาพจิตของเยาวชนไทยอย่างครอบคลุม
ส่วนขยาย
* บทความเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์ในมุมมองที่น่าสนใจ
** เขียน: ชลัมพ์ ศุภวาที (บรรณาธิการ และผู้สื่อข่าว)
*** ขอขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก N/A
สามารถกดติดตามข่าวสาร และบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่ www.facebook.com/itday.in.th
![ITDay](https://www.itday.in.th/wp-content/uploads/2022/08/FB-ITDay-Cover-v2.jpg)