NIA พารู้จัก คุณแม่สายอินโน นวัตกร ผู้รังสรรค์งานจากแรงบันดาลใจคนในครอบครัว

NIA

ปังมากแม่!! เอ็นไอเอ (NIA) พารู้จัก คุณแม่สายอินโน นวัตกร ผู้รังสรรค์งานนอกบ้านผ่านแรงบันดาลใจคนในครอบครัว…

NIA พารู้จัก คุณแม่สายอินโน นวัตกร ผู้รังสรรค์งานจากแรงบันดาลใจคนในครอบครัว

บทบาทของคุณแม่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แค่เลี้ยงลูก ทำอาหาร และดูแลคนในครอบครัวอีกต่อไปแล้ว เพราะหลายสิบปีที่ผ่านมานี้ คุณแม่หลายคนก็มีความเก่งงานนอกบ้านไม่แพ้กับคุณพ่อเลยทีเดียว และเนื่องในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นเดือนแห่งวันแม่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ 

ในฐานะหน่วยงานส่งเสริม และสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมจึงอยากพาทุกคนไปพบกับอีกหนึ่งบทบาทของคุณแม่กับการเป็น นวัตกร ผู้พัฒนานวัตกรรม ที่ได้แรงบันดาลใจจากการดูแลคนในบ้านสู่การรังสรรค์นวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์วิถีชีวิตคนในสังคม

เรียกได้ว่านอกจากจะสวมบทบาทความเป็นแม่ของลูกแล้ว ยังลุกขึ้นมาทำสิ่งดี ๆ และตอกย้ำบทบาทของความเป็น แม่ ที่สามารถเป็นผู้นำได้ดีเลยทีเดียว

NIA
นิชาพร วาฤทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินฟินิท เอ็กซ์ จำกัด

คู่แม่ลูกผู้แบ่งปัน “การได้ยิน” เพื่อคนพิการ

เริ่มกันที่คุณแม่คนแรกอย่าง นิชาพร วาฤทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินฟินิท เอ็กซ์ จำกัด คุณแม่นักพัฒนานวัตกรรมที่ลุกขึ้นมาสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อผู้ด้อยโอกาสที่มีภาวะบกพร่องทางด้านการได้ยินผ่านนวัตกรรมหูฟังสำหรับผู้พิการ โดยได้เล่าว่า แรงบันดาลใจในการพัฒนานวัตกรรม

เพื่อผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินมีจุดเริ่มต้นมาจากขณะที่ตนกำลังนั่งดูซีรีส์ และลูกชายกำลังนั่งเล่นกีต้าร์ไฟฟ้าอยู่ใกล้ ๆ แต่ด้วยความที่กีต้าร์ไม่ได้ต่อเครื่องขยายเสียง เขาจึงต้องก้มหน้าไปใกล้ๆตัวกีตาร์ และเมื่อคางของเขาไปแตะตัวกีต้าร์โดยบังเอิญหลังจากนั้นลูกก็บอกว่า มีเสียงมันก็เข้าไปตรงนี้ แล้วก็ได้ยินชัดเลย

NIA

หากเอาปรากฏการ์ณนี้ไปทำเครื่องช่วยฟัง ให้คนพิการได้ยินจากคางขึ้นไปน่าจะดี หลังจากการหาข้อมูลและทำเครื่องช่วยฟังได้สำเร็จ คุณแม่จึงได้พาลูกไปทดสอบเครื่องช่วยฟังกับโรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทร โดยใช้สิ่งที่ลูกประดิษฐ์ขึ้นมา และพบว่าได้ผลทำให้ผู้พิการทางการได้ยินในโรงเรียนได้ยินเสียงดีขึ้น

หลังจากนั้นตนจึงเริ่มมองหาหน่วยงานที่สนับสนุนองค์ความรู้ และทุนเพื่อพัฒนานวัตกรรมให้แก่ผู้พิการทางการได้ยิน เพราะปัจจุบันผู้พิการทางการได้ยินในประเทศไทยมีจำนวนมาก ซึ่งมีจำนวนผู้พิการทางการได้ยินมากเป็นอันดับ 2 (ข้อมูลจากกระทรวงพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์)

NIA

และเพื่อให้พวกเขามีโอกาสที่จะได้ยินเสียงเหมือนคนทั่วไป ดังนั้นทางครอบครัวจึงได้คิดทำ โครงการเอียซ์ : หูฟังนวัตกรรมเพื่อผู้ด้อยโอกาสทางการได้ยิน เป็นการพัฒนาหูฟังให้กลายเป็นอุปกรณ์ช่วยฟังพร้อมอุปกรณ์รับสัญญาณสำหรับผู้บกพร่องทางการได้ยินประเภทหูตึง และหูหนวกแบบไม่ถาวร

โดยมีรูปแบบการทำงานผ่านหลักการส่งเคลื่อนเสียงผ่านกระดูกสันหลังของหู นอกจากนี้บริษัทยังพัฒนาหูฟังสำหรับผู้บกพร่องทางการได้ยินได้สามารถเชื่อมต่อบลูทูธกับอุปกรณ์อื่น ๆ อาทิ โทรทัศน์ โทรศัพท์ เพื่อเปิดโอกาสให้พวกเขาได้เชื่อมต่อกับโลกภายนอกได้ด้วย ทั้งนี้จากการทดสอบผลิตภัณฑ์กับผู้พิการในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่พบว่ากว่า 90 % สามารถได้ยินเสียงของตัวเอง

NIA

“ตนคาดหวังว่าอุปกรณ์ของทางบริษัทที่พัฒนาขึ้นมาจะช่วยให้ผู้ที่มีสภาวะบกพร่องทางการได้ยินมีโอกาสเข้าถึงนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีได้ในราคาที่ต่ำและมีคุณภาพที่เหมาะสม โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขา นอกจากการได้ช่วยเหลือผู้อื่นแล้ว

โครงการดังกล่าวยังทำให้ลูกของตนมองเห็นปัญหาที่ชัดเจนมากขึ้น และได้ต่อยอดนวัตกรรมดี ๆ ที่จะทำให้ผู้พิการสามารถใช้ชีวิตได้เท่าคนปกติ และช่วยให้คุณภาพชีวิตของคนพิการดีขึ้น” นิชาพร กล่าว

NIA
ดร.พุทธชาติ ขันต้นธง กรรมการผู้จัดการบริษัท 360 เทรนนิ่ง

สมุดพกอิเล็กทรอนิกส์นวัตกรรมเพื่อลูกน้อยสนุกกับการเรียนรู้

ดร.พุทธชาติ ขันต้นธง กรรมการผู้จัดการบริษัท 360 เทรนนิ่ง จำกัด อีกหนึ่งคุณแม่ที่อยากนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาศักยภาพนักเรียนไทย และลดความกังวลใจให้บรรดาผู้ปกครองที่มีความกังวลเกี่ยวกับอนาคตของลูกด้วยนวัตกรรม ELift : สมุดพกอิเล็กทรอนิกส์ 

โดย ดร.พุทธชาติ เล่าว่า ที่ผ่านมาจากการเก็บข้อมูลพบว่า ปัจจุบันการประเมินผลการเรียนการสอนของระบบการศึกษาไทย เป็นการประเมินตามหลักสูตรแกนกลาง และแนวทางการวัดผลเพื่อให้โรงเรียนได้ปรับหลักสูตรให้เหมาะสมกับการเรียนการสอนโรงเรียนแต่ละแห่ง แต่โรงเรียนยังขาดขั้นตอนในการติดตาม การวัด

และประเมินผลที่ครอบคลุมกับทักษะในด้านต่าง ๆ ของนักเรียน ส่งผลให้ที่ผ่านมาผลคะแนนการสอบ ONET และคะแนนการสอบตามโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนตามมาตรฐานสากล (PISA) ของโรงเรียนในประเทศไทยต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ดังนั้น บริษัทจึงได้พัฒนาแพลตฟอร์ม ELift : สมุดพกอิเล็กทรอนิกส์ 

โดยระบบจะทำการประเมินความถนัดทางทักษะ softskill และวิชาการ พร้อมทั้งสร้างชุดแบบฝึกหัดเพื่อการเรียนรู้จากระดับความสามารถของเด็กเป็นรายบุคคลทำให้ผู้เรียนสนุกกับการเรียนรู้ และไม่รู้สึกว่าเป็นการเรียนที่ยากจนเกินไป นอกจากนี้ ระบบยังมีการแข่งขันและมอบรางวัลให้กับเด็กที่เข้าไปเล่นเกม

เพื่อสร้างทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ของเด็ก โดยที่ผ่านมาได้มีการทดลองใช้ระบบดังกล่าวกับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ในรายวิชาคณิตศาสตร์ พบว่า ระบบช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กให้เพิ่มขึ้นจากเดิมได้มากถึง 20% ลดระยะเวลาในการทำข้อมูลเพื่อประเมินผลของครูลงได้ถึง 80% และยังช่วยลดภาวะความเครียดและความคาดหวังของผู้ปกครอง รวมถึงลดปัญหาจิตวิทยาในวัยเรียน

NIA

“ตนอยากสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ดี และมีมาตรฐานให้แก่เด็กไทย โดยให้พวกเขาค้นหาความสามารถตัวเองได้ แบบไม่ต้องลองผิดลองถูก มีความสุขในการเรียนรู้ สร้างทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้อย่างยั่งยืน รวมถึงการส่งเสริมให้เด็ก มีความมั่นใจในตัวเองเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังอยากช่วยลดความกังวลให้ผู้ปกครองที่ต้องส่งลูกไปเรียน

และคาดหวังว่าอนาคตต่อไปลูกจะเติบโตไปอย่างไร เพราะแพลตฟอร์มที่ทำขึ้นมานอกจากจะช่วยให้เด็กค้นหาตัวเองเจอเร็วขึ้นแล้ว ยังสามารถเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างโรงเรียน และผู้ปกครอง ทำให้ผู้ปกครองเข้าใจและรู้ว่าลูกต้องการเติบโตไปอย่างไรด้วย” ดร.พุทธชาติ กล่าว

NIA
อัมภาพัตร ฉมารัตน์ ผู้ร่วมพัฒนา “คิดส์อัพ” แอปพลิเคชันแก้ปัญหาจราจรหน้าโรงเรียน

เปิดเรียนอย่างปลอดภัยกับแอปฯ ชนะปัญหารถติด

และคุณแม่คนเก่งคนสุดท้าย อัมภาพัตร ฉมารัตน์ ผู้ร่วมพัฒนา “คิดส์อัพ” แอปพลิเคชันแก้ปัญหาจราจรหน้าโรงเรียนแบบยั่งยืน จาก บริษัท อาร์ติคูลัส จํากัด เล่าว่า แนวคิดการทำแอปพลิเคชันนี้ เริ่มต้นมาจากการที่ต้องขับรถไปส่งลูกที่โรงเรียนเป็นประจำทุกวัน ซึ่งมักจะพบปัญหาการจราจรติดขัดหน้าโรงเรียนเสมอ

โดยปัญหาดังกล่าวไม่ได้กระทบแค่การเดินทางเท่านั้น แต่ยังกระทบไปถึงสุขภาพของเด็กด้วย เพราะการที่รถติดสะสมเป็นเวลานานมักจะมีมลพิษตามมาอยู่แล้ว ตนในฐานะแม่เกิดความกังวล และเป็นห่วงเด็ก ๆ ค่อนข้างมาก จึงได้ปรึกษากับทีมว่าเราจะสามารถนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเข้ามาแก้ปัญหาการจราจรติดขัดหน้าโรงเรียนได้อย่างไร

จากนั้นจึงได้เริ่มต้นทำแอปพลิเคชันคิดส์อัพขึ้น เพื่อให้ผู้ปกครองสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน และเข้าไปใช้งานก่อนที่จะเดินทางไปรับลูกที่โรงเรียน โดยหลังจากที่ผู้ปกครองเริ่มกดแอปพลิเคชัน แอปฯ ก็จะทำการแจ้งเตือนไปยังนักเรียนและโรงเรียนทันที

และระหว่างเดินทางแอปพลิเคชันจะรู้ตําแหน่งของผู้ปกครองผ่านจีพีเอส และการคํานวณเวลาเดินทางผ่านระบบข้อมูลการจราจร (real time traffic information) เมื่อนักเรียนทราบเวลาที่คาดว่าผู้ปกครองจะมาถึงโรงเรียนก็จะเตรียมพร้อมก่อนทำให้ผู้ปกครองไม่ต้องจอดรถรอลูกนานเหมือนที่ผ่านมา

“ตนอยากเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์นวัตกรรม หรือเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยให้เด็ก ๆ มีความปลอดภัยในชีวิตมากขึ้น และยังช่วยแก้ปัญหาการจราจรให้กับสังคมได้อีกด้วย โดยเฉพาะการจราจรติดขัดหน้าโรงเรียน ดังนั้น ตนจึงอยากให้แอปพลิเคชันคิดส์อัพเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่จะเข้ามาช่วยสร้างแก้ปัญหาไปพร้อม ๆ กับการสร้างวินัยให้คนในสังคมร่วมด้วย” อัมภาพัตร กล่าว

พลังของคุณแม่ล้วนยิ่งใหญ่ และมีความหมายเสมอ โดยเฉพาะพลังทางความคิด การลงมือทำ เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นเพศแม่ ย่อมคิดและทำทุกอย่างด้วยความใส่ใจ และคุณแม่คนไทยก็เก่งไม่แพ้คนชาติอื่นจริง ๆ

ส่วนขยาย

* บทความเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์ในมุมมองที่น่าสนใจ 
** เขียน: ชลัมพ์ ศุภวาที (บรรณาธิการ และผู้สื่อข่าว) 
*** ขอขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก N/A

สามารถกดติดตามข่าวสารและบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่  www.facebook.com/itday.in.th

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.