ไปรษณีย์ไทย (Thailand Post) จับมือ รัฐวิสาหกิจไปรษณีย์ลาว (Entreprise des Postes Lao : ปนล) ปั้นแผนเชื่อมพื้นที่ก้าวสู่ผู้นำสินค้าเส้นทางผ่านรถไฟเร็วสูง “เวียงจันทน์-คุนหมิง” พร้อมประเดิมนำสินค้าลาวขึ้น thailandpostmart.com เจาะกำลังซื้อท้องถิ่น…
highlight
- ไปรษณีย์ไทย เชื่อมศักยภาพขนส่ง “ไทย-ลาว” เตรียมเดินหน้าปั้นแผนเชื่อมพื้นที่ อีสานสู่จีน ผ่านรถไฟเร็ว “เวียงจันทน์-คุนหมิง” เจาะกำลังซื้อท้องถิ่น เพื่อขนส่งสินค้าไปยังประเทศจีน และยังได้ยกระดับค้าปลีก- อีคอมเมิร์ซ เช่น การนำสินค้าท้องถิ่นของ สปป.ลาว มาจำหน่ายบนเว็บไซต์ thailandpostmart.com การนำอาหารทะเลสด/แห้งมาจำหน่
ายด้วยบริการฟิ้วซ์ โพสต์ บริการการเงินรูปแบบใหม่ เช่น eWallet และบริการจ่ายเงินปลายทาง (COD) ระหว่างประเทศ เพื่อรองรับการเติบโตของการค้ าระหว่างประเทศ - เตรียมแผนในการดำเนินงานของปี 2566 เพื่อให้ ไปรษณีย์ไทย ก้าวสู่ “ผู้ให้บริการไปรษณีย์ และโลจิสติก์ครบวงจร-ยั่งยืนตามมาตราฐานสากลด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล” ผ่านเทคโนโลยีสุดล้ำ 4 โซลูชั่น ได้แก่ 1.โซลูชัน Global Cross Border Service, โซลูชันด้านการขนส่งด้วยดาต้า, โซลูชันด้านการขนส่งที่สร้างความพึงพอใจในระดับสูงสุดด้วยมาตรการ “Zero Complain” และ โซลูชันเสริมแกร่งเครือข่าย “พันธมิตรธุรกิจไปรษณีย์ไทย” พร้อมเป้าหมายในปี 2566 คือการอยู่เคียงข้างคนไทยในฐานะ “หน่วยงานการสื่อสาร และขนส่งของชาติ”
Thailand Post จับมือ Lao Post ตั้งเป้าก้าวสู่ผู้นำสินค้าเส้นทาง “เวียงจันทน์–คุนหมิง“

ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยว่า บริการขนส่งข้ามพรมแดนเป็นหนึ่งในธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับไปรษณีย์ไทยและผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะในกลุ่มค้าปลีกและอีคอมเมิร์ซ ซึ่งหนึ่งในปลายทางที่มีโอกาสในการสร้างรายได้ในปัจจุบัน-อนาคต
ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เนื่องจากให้ความนิยมสำหรับการเลือกซื้อสินค้าที่ผลิตจากไทย อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง มีการเปิดรับการซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ รวมถึงการเปิดพื้นที่เพื่อรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และธุรกิจหลายประเภท
ทั้งนี้ เพื่ออาศัยประโยชน์จาก สปป.ลาวให้มากยิ่งขึ้น ล่าสุดไปรษณีย์ไทยจึงได้เดินหน้าสร้างความร่วมมือทางด้านขนส่งกับรัฐวิสาหกิจไปรษณีย์ลาว (Entreprise des Postes Lao : ปนล) เพื่อกระตุ้นให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศมีความคึกคัก
รวมถึงขยายตลาดสินค้าประเภทต่าง ๆ ไปสู่หัวเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ พร้อมทั้งเพิ่มศักยภาพของทั้ง 2 หน่วยงานด้วยแนวทางที่สำคัญ ดังนี้
ด้านความร่วมมือเส้นทางขนส่ง ได้เร่งหารือถึงความเป็นไปได้ในการขนส่งทางราง และทางภาคพื้นในเส้นทางลาว-คุนหมิง เพื่อรองรับการขนส่งข้ามแดนที่รวดเร็ว เช่น สินค้าทางการเกษตร สินค้าอุปโภคบริโภค จากไทยผ่านลาวไปถึงจีน และต้นทางจีนผ่านลาวมายังไทย โดยเป็นการหารือแบบพหุภาคีกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากไทย สปป.ลาว,
เวียดนาม และจีน ซึ่งหากในอนาคตสามารถใช้การขนส่งทางรถไฟได้จะทำให้การขนส่งทั้ง 3 ประเทศมีความสะดวกยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสามารถเชื่อมต่อไปยังปลายทางยุโรป ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาระวางขนส่งอากาศซึ่งมีจำกัดและอัตราค่าขนส่งค่อนข้างสูงได้อีกด้วย
นอกจากนี้ หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ดีขึ้น ได้มีการเปิดพรมแดนระหว่างไทยและ สปป.ลาว ทำให้สามารถเปิดให้บริการไปรษณีย์ระหว่างประเทศทางภาคพื้นได้สะดวกยิ่งขึ้น เช่น บริการไปรษณียภัณฑ์ บริการพัสดุไปรษณีย์
โดยทั้ง 2 ประเทศจะแลกเปลี่ยนถุงไปรษณีย์ ณ บริเวณด่านตรวจ คนเข้าเมืองสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 แลกกัน 2 วัน / สัปดาห์ ส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถ ทำการค้าได้สะดวกสบายกว่าเดิม
ด้านการขายสินค้า–อีคอมเมิร์ซ ด้วยการนำสินค้าท้องถิ่นของ สปป.ลาว มาจำหน่ายบนเว็บไซต์ thailandpostmart.com ของไปรษณีย์ไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างคัดเลือกสินค้า เช่น งานคราฟท์ กาแฟ สินค้าหัตถกรรมจากไม้ ผ้าทอมือ ฯลฯ
โดยจะเน้นกลุ่มสินค้าที่มีเรื่องราวหรือความน่าสนใจทั้งในเชิงการผลิต แหล่งที่มา อัตลักษณ์ของสินค้า รวมถึงการทำการตลาด-ขนส่งให้กับสินค้าไทยที่ต้องการขยายไปสู่ สปป.ลาว การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในด้านตลาดตราไปรษณียากร และสิ่งสะสม
นอกจากนี้ ยังจะมีการนำอาหารทะเลสด/ แห้งที่เป็นที่ต้องการของชาว สปป.ลาว มาจำหน่ายผ่านช่องทางไปรษณีย์ด้วยบริการฟิ้วซ์ โพสต์ ซึ่งสามารถส่งอาหารทะเลให้ได้ทั้งแบบรถห้องเย็น และบรรจุภัณฑ์ที่ควบคุมอุณหภูมิ โดยจะมีการพิจารณาเรื่องพื้นที่ที่สามารถรับไปจัดจำหน่ายต่อเพื่อให้สามารถรักษาคุณภาพอาหารได้
บริการการเงิน ทั้ง 2 หน่วยงานได้เตรียมพัฒนาบริการการเงินในรูปแบบใหม่ เพื่อรองรับการเติบโตของการค้าระหว่างประเทศ และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เช่น การจ่ายเงินผ่านแอปลิเคชัน หรือ eWallet และบริการจ่ายเงินปลายทาง (COD) ระหว่างประเทศ
ซึ่งจะทำให้สะดวกต่อการค้าขายกับผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ซื้อ และส่งเสริมให้เศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตได้เร็วขึ้นกับทั้ง 2 ประเทศ
การเพิ่มรูปแบบบริการขนส่ง ปัจจุบัน สปป.ลาว และไทยมีการให้บริการไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ได้แก่ บริการไปรษณียภัณฑ์ บริการ EMS World บริการพัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศทั้งทางอากาศ และทางภาคพื้น และล่าสุดได้เปิดบริการ ePacket การส่งสิ่งของที่เป็นซองหรือกล่องน้ำหนักไม่เกิน 2 กิโลกรัมในราคาประหยัด
เพื่อรองรับลูกค้าทั้งที่เป็นรายย่อย และ SMEs ให้เกิดความคุ้มทุนในด้าน ค่าขนส่ง รวมถึงยังศึกษาบริการ ePacket Plus ซึ่งเป็นบริการเสริมเพื่อรับประกันความเสียหาย และสร้างความเชื่อมั่นในบริการให้ลูกค้าเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ไปรษณีย์ไทยยังได้ลงนามความร่วมมือกับรัฐวิสาหกิจไปรษณีย์ลาวซึ่งจะร่วมกันพัฒนาบุคลากรทั้ง 2 ชาติให้มีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีและการขนส่ง การแลกเปลี่ยนข้อมูลที่สำคัญในด้านการตลาด องค์ความรู้ การปรับปรุงเครือข่ายเพื่อยกระดับการค้าอีคอมเมิร์ซ
รวมถึงในมิติที่สำคัญอย่างการสำรวจรูปแบบการขนส่งที่มีศักยภาพและคุ้มค่า ทั้งทางถนน ทางรถไฟ น่านน้ำ เพื่อนำทุกเส้นทางมาเชื่อมต่อกับรูปแบบการขนส่งให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
“ปัจจัยการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่เติบโตขึ้น โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่นอกจากการค้าขายภายในประเทศจะเติบโตแล้ว การค้าขายระหว่างประเทศก็เติบโตเช่นเดียวกัน โดยไปรษณีย์ไทยมีบริการที่รองรับรูปแบบการขนส่งไปยังปลายทางต่างประเทศ รวมทั้งปลายทางสปป.ลาว ที่หลากหลาย
ตอบโจทย์ทุกความต้องการ ทั้งบริการ EMS World ePacket ไปรษณียภัณฑ์ พัสดุไปรษณีย์ และการขนส่งทางบกผ่านพรมแดน และมั่นใจว่า สปป.ลาวจะเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ทั้งในเชิงการค้า เส้นทางที่สำคัญในการขนส่งสิ่งของไปสู่เมืองต่าง ๆ ในสปป.ลาว
รวมทั้งพื้นที่ใกล้เคียงอย่างเวียดนาม และจีน อีกทั้งการเปิดรับเทคโนโลยีทางด้านระบบไปรษณีย์ใหม่ ๆ ของสปป.ลาว ยังจะช่วยทำให้รูปแบบ และบริการขนส่งมีความครอบคลุม และได้รับประโยชน์ทั้งห่วงโซ่อุปทาน” ดร.ดนันท์ กล่าว
สร้างโอกาสการเติบโตให้ผู้ประกอบการ “ไทย–ลาว” ด้วยการขนส่งเส้นทางเศรษฐกิจ และบริการด้านการเงินที่ครบวงจร
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กล่าวเสริมว่า ความร่วมมือกันในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ใหม่ทั้ง ปัจจุบัน-อนาคต เนื่องจากสปป.ลาว เนื่องจากนิยมสินค้าของไทย อีกทั้งยังมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องเมื่อเกิดการซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
ซึ่งถือเป้นการเปิดพื้นที่ของบริการขนส่งข้ามพรมแดนที่สร้างรายได้ให้กับไปรษณีย์ไทย และผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะในกลุ่มค้าปลีก และอีคอมเมิร์ซ ที่มีการเติบโตสูงโดยใน thailandpostmart.com ปัจจุบันมีร้านค้ามากกว่า 1.7 หมื่นร้านค้าแล้ว ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกมากเนื่องเมื่อช่วง พฤศจิกายน ที่ผ่านมา
ไปรษณีย์ไทยเองก็ได้ร่วมมือ SME D Bank เปิดตัว “สินเชื่อ COD ไปรษณีย์ไทย“ เพื่อช่วยพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ เสริมสภาพคล่องด้านการเงินมากขึ้น แม้ว่าบริการนี้จะยังไม่ร่วมถึงความร่วมมือในครั้งนี้ เพราะเรายังไม่คุยกับทาง SME D Bank แต่ถึงอย่างนั้นทาง รัฐวิสาหกิจไปรษณีย์ลาว (Entreprise des Postes Lao : ปนล) เองก็มีแหล่งเงินทุนสนับสนุนอยู่แล้ว
ซึ่งสินค้าจาก สปป.ลาว นั้นจะเริ่มขึ้นไปอยู่ใน thailandpostmart.com ช่วงไตรมาสที่ 2 โดยปัจจุบันอยู่ในการคัดเลือกสินค้าที่เหมาะสมอยู่ ความร่วมมือในครั้งนี้ยังถือเป็นการเสริมบริการของไปรษณีย์ไทยในด้านการเงินที่ตอบโจทย์ พีน้องชาวลาวที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยอีกด้วย
เพราะช่วยให้สามารถฝากเงินผ่านไปรษณีย์ไทย ไปยัง รัฐวิสาหกิจไปรษณีย์ลาว (Entreprise des Postes Lao : ปนล) โดยไม่ต้องผ่านผู้ให้บริการเอกชนที่มีค่าบริการที่ค่อนข้างสูง นอกจากนี้การเพิ่มรูปแบบบริการขนส่งทางรางระหว่างทั้ง 2 ประเทศนี้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งทางอากาศที่ค่อนข้างสูง
แต่จะทำให้ต้นทุนการขนส่งลดลงกว่า 20% เมื่อใช้วีิธีการขน่งผ่านราง และยังถือเป็นโอกาสในการเติบโตให้ธุรกิจในประเทศต่าง ๆ ที่อยู่บนเส้นทาง “เวียงจันทน์–คุนหมิง“ อีกด้วย โดยเราเชื่อเมื่อความรวมมือในครั้งนี้ผ่านประสบความสำเร็จจะสร้างการเติบโตของบริการการขนส่งไม่น้อยกว่า 5% ภายในสิ้นปี 2566
เตรียมส่ง 4 โซลูชั่นพลิกโฉมบริการให้คนคนไทยภายในปี 66
”ธุรกิจโลจิสติกส์ยังคงเป็นเส้นเลือดใหญ่ทางเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มค้าปลีก และอีคอมเมิร์ซ และเพื่อเป็นการยกระดับการขนส่ง และโจจิสติกส์ในปี 2566 ให้สามารถเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจทุกระดับ รวมถึงทั่วโลกได้มากขึ้น” ดร.ดนันท์ กล่าว
นอกเหนือ่จากความร่วมมือระหว่าง “ไทย–ลาว“ แล้ว ไปรษณีย์ไทย ยังได้เตรียมแผนในการดำเนินงานของปี 2566 เพื่อให้ ไปรษณีย์ไทย ก้าวสู่ “ผู้ให้บริการไปรษณีย์ และโลจิสติก์ครบวงจร–ยั่งยืนตามมาตราฐานสากลด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล“ ผ่านเทคโนโลยีสุดล้ำ 4 โซลูชั่น ได้แก่
1.โซลูชัน Global Cross Border Service จะเป็นบริการขนส่ง และโลจิสติกส์แบบครบวงจร ที่มุ่งเชื่อมโยงธุรกิจไทยไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก และมีบริการคลังสินค้าค้าพร้อมจัดส่ง (Fulfillment) ระหว่างประเทศบนพื้นที่เขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
พัฒนาโครงการคลังสินค้าบริการระหว่างประเทศ (Bonded Warehouse) บริการอื่น ๆ เช่น EMS World ePacket ระหว่างประเทศ การลดขั้นตอนที่ผู้ประกอบการไม่ต้องดำเนินการด้วยตนเอง เช่น พิธีทางศุลกากร พร้อมทั้งการดึงพันธมิตรระดับโลก
เช่น อีเบย์ อะเมซอน มาเป็นช่องทางค้าขายให้กับอีคอมเมิร์ซไทย รวมถึงใช้ประโยชน์จากเครือข่ายทั้งทางภาคพื้น ระบบราง เรือ และอากาศ เชื่อมต่อกับทุกกลุ่มธุรกิจ
2.โซลูชันด้านการขนส่งด้วยดาต้า ผ่านการนำข้อมูลที่ไหลเวียนทั้งหมดในองค์กรมาใช้สร้างและเสริมศักยภาพของบริการ ซึ่งจะมีปรากฏการณ์ที่สำคัญ เช่น การพัฒนาระบบจัดการด้านเอกสารอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร (Prompt Post) บริการประทับรับรองเวลาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Timestamp)
บริการพิสูจน์ และยืนยันตัวตน (KYC) การใช้พื้นที่คลังไปรษณีย์ที่มีอยู่ทั่วประเทศเปิดเป็นพื้นที่ให้บริการ Fulfillment ระดับจังหวัด ระบบหลังบ้านที่ช่วยอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งสินค้าที่รวดเร็วและมีมาตรฐาน การเป็นตัวแทนขายสินค้าให้กับธุรกิจค้าปลีก / รับชำระค่าบริการต่าง ๆ ถึงหน้าบ้าน
รวมถึงการเดินหน้าพัฒนาระบบ CRM และ Big Data เพื่อรวบรวมข้อมูลของลูกค้าในทุกมิติและนำมาวิเคราะห์ จัดกลุ่ม และนำเสนอสินค้า/บริการความต้องการลูกค้าแต่ละกลุ่ม การขยาย “ทีมขาย ทีมขน และทีมแคร์“ เพื่อดูแลให้คำปรึกษาตั้งแต่เรื่องการใช้ระบบขนส่งที่เหมาะสม ราคา การออกแบบบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการทำการตลาดบนแพลตฟอร์มของไปรษณีย์ไทย
3. โซลูชันด้านการขนส่งที่สร้างความพึงพอใจในระดับสูงสุดด้วยมาตรการ “Zero Complain“ ลดข้อร้องเรียนต่าง ๆ เช่น พัสดุสูญหาย คอมเม้นท์บนโซเชียลมีเดียให้เป็นศูนย์และเพิ่มศักยภาพในส่วนที่มีความได้เปรียบให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งกว่าเดิม เช่น เครือข่ายที่ครอบคลุมมากกว่า 20,000 แห่ง
ทั้งจาก เครือข่ายประเภทตัวแทน จุด EMS Point ผู้ให้บริการขนส่งรายใหญ่ในตลาด ซึ่งจะทำให้การฝากส่งสิ่งของมีความสะดวกทุกพื้นที่ การนำจ่ายที่มีความรวดเร็ว แม่นยำด้วยระบบ Cross Navigate Networking ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็จะดูแลพัสดุทุกชิ้นให้เดินทางไปถึงปลายทางด้วยความปลอดภัย
4.โซลูชันเสริมแกร่งเครือข่าย “พันธมิตรธุรกิจไปรษณีย์ไทย“ ซึ่งเป็นการนำจุดแข็งที่มีขององค์กรเข้าไปสร้างประโยชน์ให้กับองค์กรพันธมิตรในรูปแบบเศรษฐกิจแบ่งปัน ไม่ว่าจะเป็น FUZE POST ที่จัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับ JWD และ FLASH ให้บริการขนส่งควบคุมอุณหภูมิ กลุ่มที่อยู่อาศัยที่ร่วมมือกับ AP
พร้อมเชื่อมต่อระบบของไปรษณีย์ไทย เรียก และนัดหมายให้เข้าไปรับพัสดุ และพร้อมต่อยอดไปเครืออสังหาริมทรัพย์อื่น การเชื่อมโยง Rider Services กับผู้ให้บริการ Robinhood และในอนาคตกับรายอื่น ๆเพิ่มโอกาสการสร้างรายได้ และขยายช่องทางการส่งสินค้าของไปรษณีย์ไทย
และร่วมไปถึงความร่วมมือแพลตฟอร์ม Telemedicine ในการจัดส่งยารักษาโรค สถาบันการเงินกับการมอบสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง รวมถึงยังมีแผนดำเนินธุรกิจในอีกหลายสาขา เพื่อให้ทุกอุตสาหกรรมใช้ประโยชน์จากไปรษณีย์ไทยได้อย่างเต็มที่
ดร.ดนันท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สัดส่วนรายได้องค์กรในปัจจุบันแบ่งเป็น กลุ่มบริการขนส่งและ โลจิสติกส์ 47.62% กลุ่มไปรษณียภัณฑ์ 31.26% กลุ่มบริการระหว่างประเทศ 15.94% กลุ่มธุรกิจการเงิน 1.78% กลุ่มธุรกิจค้าปลีก 2.78% และกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ 0.66% และนอกเหนือจากการสร้างรายได้จากกลุ่มดังกล่าวแล้ว
ไปรษณีย์ยังมีแผนในการแสวงหารายได้จากน่านน้ำใหม่ทางธุรกิจ ซึ่งเป็น New S–Curve ขององค์กร ทั้งการเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจไปรษณียภัณฑ์เดิม เช่น แสตมป์ NFT, บริการจัดส่งสื่อโฆษณาทางไปรษณีย์ หรือ Advertising Mail ที่สามารถจัดส่งสิ่งพิมพ์โฆษณา หรือสินค้าตัวอย่าง
ให้แก่ กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ในรูปแบบ Direct Mail บริการ e-Timestamp ประทับรับรองเวลาอิเล็กทรอนิกส์ โดยปัจจุบันมีลูกค้า เช่น หน่วยงานภาครัฐ โรงพยาบาล สถานศึกษา เป็นต้น
ขณะที่ใน กลุ่มขนส่ง–ค้าปลีก เช่น กล่อง On Demand ที่สามารถออกแบบและผลิตได้ตามความต้องการของประเภทธุรกิจ วางจำหน่าย-โฆษณาสินค้าตามไปรษณีย์ต่าง ๆ การขยายพื้นที่บริการ FUZE POST เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิ กลุ่มธุรกิจระหว่างประเทศ
เช่น คลังสินค้าบริการระหว่างประเทศ (Bonded Warehouse) สำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และผู้ใช้บริการทั่วไป กลุ่มธุรกิจการเงิน อาทิ บริการประกันภัยออนไลน์ การให้สินเชื่อร่วมกับสถาบันการเงิน การทำธุรกรรมการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับเติมเงิน ชำระเงิน โอนเงินระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังมุ่งพลิกโฉมภาพใหญ่ทางเศรษฐกิจของประเทศด้วยดิจิทัล และเทคโนโลยี ผ่านการเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีสำคัญคือ โครงการ Digital Post ID เปลี่ยนระบบการระบุตำแหน่งที่อยู่บนกล่องซองจากแบบเดิมให้เป็นที่อยู่ดิจิทัล ในรูปแบบ QR Code โดยทุกภาคส่วนจะได้รับการรักษาความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย
อีกทั้งมุ่งเป็นขนส่งรายแรกที่จะ นำยานยนต์ไฟฟ้ามาใช้ในระบบงานไปรษณีย์ และระบบนำจ่าย จำนวนกว่า 600 คัน ทดแทนรถเดิม ที่หมดอายุใช้งานในปี 2566 สอดรับกับความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมโลก

“ขนส่ง และโลจิสติกส์เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง ผู้ให้บริการทุกรายจำเป็นต้องปรับตัว และพัฒนาบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากที่สุด โดยเป้าหมายในปี 2566 ของไปรษณีย์ไทยคือการอยู่เคียงข้างคนไทยในฐานะ “หน่วยงานการสื่อสาร และขนส่งของชาติ“ เน้นการทำงานเชิงรุก เข้าหาลูกค้า
พัฒนาบริการให้ตรงกับความต้องการของทุกภาคส่วน พร้อมดูแลคนไทยเพื่อให้ทุกคนไว้วางใจและนึกถึงไปรษณีย์ไทยทุกครั้งที่ต้องการใช้บริการ นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายที่จะเพิ่มผลิตภาพและคุณภาพของ ทุกกระบวนการทำงาน การสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการเข้าถึงกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่หลากหลายมากขึ้น
การพัฒนาบริการใหม่จากฐานทรัพยากรที่มีอยู่ และสุดท้ายคือการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาสนับสนุนให้เกิดความสะดวก เพิ่มโอกาสทางธุรกิจมากยิ่งขึ้น” ดร.ดนันท์ กล่าวสรุป
ส่วนขยาย * บทความเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์ในมุมมองที่น่าสนใจ ** เขียน: ชลัมพ์ ศุภวาที (บรรณาธิการ และผู้สื่อข่าว) *** ขอขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก N/A
สามารถกดติดตามข่าวสาร และบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่ www.facebook.com/itday.in.th