เอ็นไอเอ (NIA) เปิด 3 มาตรการเยียวยาสตาร์ทอัพธุรกิจนวัตกรรม พร้อมเร่งปรับแผนเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตไวรัสโควิด-19 (Covid-19)…
highlight
- สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เผยมาตรการเยียวยาสตาร์ทอัพ ธุรกิจนวัตกรรม หลังผ่านวิกฤตไวรัสโควิด – 19 เพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคดังกล่าว
- เตรียมสนับสนุนด้านเงินทุนให้เปล่าผ่านกลไกหลักของสำนักงานฯ ทั้งในรูปแบบเงินให้เปล่า 70 ล้านบาท และร่วมกับสถาบันการเงินในการอนุมัติเงินกู้เงื่อนไขพิเศษ
- พร้อมเร่งสร้างตลาดใหม่ โดยเฉพาะการผลักดันให้เข้าถึงตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พร้อมเปิดพื้นที่ประชาสัมพันธ์เพื่อโปรโมทนวัตกรรมต่าง ๆ ผ่านเพจ Startup Thailand
- ผลักดันด้านการส่งเสริมความรู้ผ่านการจัดหลักสูตรทั้งระดับเยาวชน และสตาร์ทอัพทั่วไปมากกว่า 10 หลักสูตร ทั้งนี้ เพื่อให้กลุ่มธุรกิจดังกล่าวสามารถดำเนินต่อไปได้ในช่วงสถานการณ์นี้คลี่คลาย
NIA เตรียมพร้อมช่วยสตาร์ทอัพด้านนวัตกรรมหลัง Covid–19 คลี่คลาย
ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา เอ็นไอเอ มีการพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของสตาร์ทอัพมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเงิน การลงทุน การตลาด กฎระเบียบ เครือข่าย
รวมถึงการเสนอแนวนโยบาย และจัดทำร่างพระราชบัญญัติการพัฒนา และส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น เพื่อส่งเสริม และสนับสนุนสตาร์ทอัพไทยให้สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด สำหรับวิกฤตการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ในครั้งนี้ ถือว่าส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมไปทั่วโลก
ซึ่ง เอ็นไอเอ ได้เตรียมมาตรการเพื่อให้ความช่วยเหลือ และฟื้นฟูสตาร์ทอัพ ธุรกิจนวัตกรรม หลังวิกฤตผ่านพ้นไป โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่
สนับสนุนด้านเงินทุนให้เปล่าผ่านกลไกหลักของสำนักงาน
เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ โดยเบื้องต้นได้สนับสนุนทุนนวัตกรรมไปแล้วกว่า 10 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินอุดหนุนรวม 39.8 ล้านบาท เช่น สบายดี: แพลตฟอร์มดูแลสุขภาพระหว่างการระบาดของไวรัสโควิด-19 นวัตกรรมบริการสำหรับการขนย้ายผู้ป่วย หรือผู้เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19
ระบบบริหารห่วงโซ่อุปสงค์–อุปทานเพื่อรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หน้ากากอนามัยชนิดใช้ซ้ำได้ เป็นต้น และยังได้เตรียมงบอุดหนุนแบบให้เปล่าไว้สำหรับช่วงหลังวิกฤตโควิด-19 อีกกว่า 70 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนวิสาหกิจฐานนวัตกรรมทั้งมิติเศรษฐกิจ และสังคม นอกจากนี้ ยังได้หารือกับสถาบันการเงินหลายแห่ง
เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารไทยพาณิชย์ ฯลฯ เพื่ออนุมัติเงินกู้เงื่อนไขพิเศษสำหรับสตาร์ทอัพ และเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตไวรัสโควิด 19
เร่งสร้างตลาดใหม่ และส่งเสริมการเติบโต
ด้วยการสร้างโอกาสเข้าถึงตลาดภาครัฐได้สะดวก และรวดเร็วขึ้น ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการจัดซื้อจัดจ้างของตลาดภาครัฐสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ GPT และ แพลตฟอร์ม “YMID Portal” เป็นต้น ซึ่งในช่วงวิกฤตไวรัสโควิด-19 นี้ก็ได้สร้างโอกาสให้สตาร์ทอัพที่มีผลิตภัณฑ์ และบริการที่ตอบโจทย์แก้ไขปัญหาดังกล่าวกว่า 12 ราย
ได้เข้าไปร่วมทำงานจริงกับเครือข่ายโรงพยาบาลกว่า 9 แห่ง ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและสามารถขยายโอกาสต่อไปในภาครัฐอื่นได้ นอกจากนี้ เอ็นไอเอ ยังเตรียมเปิดพื้นที่ประชาสัมพันธ์ให้สตาร์ทอัพมาโปรโมท นวัตกรรมดี ๆ ผ่านช่องทางเพจ Startup Thailand ซึ่งคาดว่าจะพร้อมให้บริการได้ภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้
สำหรับสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพและต้องการก้าวสู่ระดับประเทศหรือระดับนานาชาติมากขึ้น เอ็นไอเอ ยังมีเครือข่ายกับบริษัทขนาดใหญ่ เช่น เครือซีพี ไทยยูเนี่ยน สยามคูโบต้า ช.การช่าง ฯลฯ ที่พร้อมจะร่วมลงทุน และผลักดันให้สตาร์ทอัพนั้นได้เติบโตอย่างก้าวกระโดดต่อไป
ส่งเสริมความรู้ และพัฒนาสตาร์ทอัพ
ที่ผ่านมามีการจัดหลักสูตรอย่างต่อเนื่องทั้งระดับเยาวชน และสตาร์ทอัพทั่วไป และขณะนี้ได้มีการพัฒนาเข้าสู่ระบบออนไลน์มากขึ้นผ่านสถาบันวิทยาการนวัตกรรม โดยภายในเดือนพฤษภาคมนี้จะมีมากกว่า 10 หลักสูตร และโครงการ Startup Thailand League ที่เน้นไปยังกลุ่มนักศึกษาที่มีความสนใจจะเป็นสตาร์ทอัพ โดยที่ผ่านมามีสตาร์ทอัพสนใจเข้าร่วมกว่า 2000 ราย
ทั้งนี้ นอกเหนือจากมาตรการดังกล่าว ยังมีอีกหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ ธนาคาร และเอกชน ได้เริ่มสนับสนุนสตาร์ทอัพและวิสาหกกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม เพื่อพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาศ เช่น กระทรวงการคลัง NSTDA, DEPA , ธนาคารออมสิน, ธนาคารไทยพาณิชย์ และ Innospace เป็นต้น
สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-017-5555 เว็บไซต์ และ facebook.com/NIAThailand
ส่วนขยาย
* บทความเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์ในมุมมองที่น่าสนใจ
** เขียน: ชลัมพ์ ศุภวาที (บรรณาธิการ และผู้สื่อข่าว)
*** ขอขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก www.pexels.com
สามารถกดติดตามข่าวสารและบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่ www.facebook.com/itday.in.th