สตาร์ทดี (StartDee) ขึ้นแท่น Top 3 แอปฯ การศึกษาไทยที่มีผู้เรียนกว่า 100,000 ราย หลังเปิดตัวเพียง 3 สัปดาห์ พร้อมเผย Big Data พฤติกรรมเด็กเรียนออนไลน์…
StartDee ขึ้นแท่น Top 3 แอปฯ การศึกษาไทย พร้อมเผยพฤติกรรมเด็กเรียนออนไลน์
ขึ้นแท่นติดอันดับ TOP 3 แอปพลิเคชันด้านการศึกษาทั้งใน Apple Store และ Play Store ไปเป็นที่เรียบร้อย (อันดับ 1 DLTV และ อันดับ 2 Google Classroom) สำหรับ สตาร์ทดี (StartDee) ภายใต้แนวคิดของผู้ก่อตั้ง และซีอีโอหนุ่มรุ่นใหม่ ไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาบูรณาการ
ในการออกแบบหลักสูตร ผ่านการคิดค้น พัฒนา และทดลองใช้งานจริง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการ และพฤติกรรมการเรียนของเด็กนักเรียนทั่วประเทศ พร้อมปลดล็อกข้อจำกัดการศึกษาไทย หลังประกาศเปิดเทอมโรงเรียนออนไลน์ไปเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ให้เด็กนักเรียนได้เรียนฟรีพร้อมกันทั่วประเทศระหว่างโรงเรียนเลื่อนเปิดเทอม
พบว่ามียอดดาวน์โหลดสูงถึง 100,000 ครั้ง ภายในระยะเวลาเพียง 3 สัปดาห์ เตรียมเดินหน้าพัฒนาระบบการศึกษาไทย และแอปพลิเคชันอย่างต่อเนื่องเปิด Big Data เผยพฤติกรรมเด็กเรียนออนไลน์มี 3 รูปแบบ ได้แก่ Power Learner, Active Learner และ Passive Learner
ชู 3 จุดแข็ง “เข้าถึงทั่วประเทศ – บทเรียนดีที่ตอบโจทย์ – เข้าใจนักเรียน“
เข้าถึงทั่วประเทศ : ภายในระยะเวลา 3 สัปดาห์ พบว่ามีเด็กนักเรียน 1,196 โรงเรียน จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ เข้ามาลงทะเบียนเรียนในระบบของ สตาร์ทดี โดย 15% ของโรงเรียนเหล่านี้ มีสัดส่วนนักเรียนยากจนเกินครึ่ง บ่งชี้ตามฐานข้อมูลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา)
เหตุที่ สตาร์ทดี สามารถเข้าถึงเด็กไทยได้อย่างครอบคลุม มีปัจจัยหลักมาจากการออกแบบบทเรียนสามารถเข้าถึงได้อย่างง่าย ผ่านสมาร์ทโฟนทุกรุ่น รองรับทุกระบบ ทั้ง iOS และ Android ซึ่งสมาร์ทโฟนนับว่าเป็นอุปกรณ์ที่สามารถเข้าถึงเด็กไทยได้มากถึง 86% ทั่วประเทศ (อ้างอิงจากฐานข้อมูลของ OECD)
บทเรียนดีที่ตอบโจทย์ : เมื่อเจาะลึกไปที่ Big Data เกี่ยวกับพฤติกรรมการเรียนออนไลน์ของเด็กนักเรียนทั่วประเทศ พบว่ามีรูปแบบการเรียนออนไลน์ที่เหมาะสำหรับเด็กไทย อยู่ 3 ประการหลัก ได้แก่
- บทเรียนดี ต้อง “สั้น กระชับ ประทับใจวัยรุ่น”
จากการวิเคราะห์พฤติกรรมการรับชมวิดิโอกว่า 3,000 รายการ ของ สตาร์ทดี พบว่า คลิปวิดีโอที่มีความยาวประมาณ 2–3 นาที มีอัตราการชมคลิปจนจบสูงถึง 70–80% ในขณะที่ คลิปซึ่งมีความยาวเกิน 6 นาที จะมีจำนวนคนรับชมคลิปจนจบน้อยลงเรื่อย ๆ
สอดคล้องกับพฤติกรรมกลุ่มเป้าหมายหลัก ที่เป็นกลุ่ม Gen Z ซึ่งมีสมาธิอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เป็นเวลาไม่นานนัก สตาร์ทดี จึงออกแบบบทเรียนในแต่ละคลิปให้มีความสั้น กระชับ มีความยาวเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3-5 นาที พร้อมสอดแทรกเทคนิคการสอนที่มีไดนามิค มีภาพประกอบ
และแอนิเมชันที่ดึงดูดความสนใจ พร้อมช่วยให้ผู้เรียนทำความเข้าใจเนื้อหาได้โดยง่าย ตอบโจทย์พฤติกรรมการเรียนออนไลน์ของเด็กไทยได้อย่างตรงจุด
- บทเรียนดี ต้อง “ปรับช้า–เร็วได้ตามใจ กดหยุดเมื่อไรก็ได้ตามต้องการ“
คลิปที่มีเนื้อหาและหัวข้อย่อยจำนวนมาก มีจำนวนการหยุดรับชมมากกว่าคลิปที่มีความยาวไล่เลี่ยกัน แต่มีเนื้อหาย่อยน้อยกว่า ถึง 1.5 เท่า โดยจุดที่หยุดรับชมนั้นมักเป็นเนื้อหาสำคัญของบทเรียน ที่ต้องอาศัยการจดตามหรือทำความเข้าใจทั้งสิ้น
แสดงให้เห็นว่า แพลตฟอร์มการเรียนออนไลน์สามารถช่วยให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพขึ้นได้ โดยเฉพาะบทเรียนที่มีเนื้อหาเยอะและซับซ้อน เพราะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถหยุดรับชมคลิป เลือกปรับระดับความเร็วได้หลากหลาย และให้เวลาตนเองในการทำความเข้าใจบทเรียนตามศักยภาพของแต่ละคน
- บทเรียนดี ต้อง “มีเรื่องราว“
เพื่อให้ผู้เรียนสามารถทำความเข้าใจเนื้อหาได้โดยง่าย สตาร์ทดี จึงนำแอนิเมชันบทบาทสมมติมาเล่าให้ต่อเนื่องตลอดทั้งบทเรียน โดย เมื่อพิจารณา 10 อันดับ คลิปวิดิโอที่ได้รับความนิยมสูงสุดภายในแอป พบว่าทุกคลิปล้วนมีความสั้น กระชับ และมีลักษณะความเป็นเรื่องราว ได้แก่
- “เปิด“ บทเรียนอย่างน่าสนใจด้วยบทบาทสมมติ
- “เล่า“ ด้วย story ประจำบทเรียนที่สอดคล้องกันในทุกหัวข้อย่อย
- “ลื่นไหล“ ด้วยแอนิเมชันและ real–time pop–up text
- “ปิด“ ด้วยการสรุปรวบยอดก่อนจบคลิป
เข้าใจนักเรียน : จาก Big Data ของ สตาร์ทดี พบพฤติกรรมเด็กเรียนออนไลน์ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม หลัก ๆ ได้แก่ Power Learner, Active Learner และ Passive Learner
กลุ่มแรก คือ Power Learner เป็นกลุ่มนักเรียนที่มีความขยัน กระตือรือร้น มีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนออนไลน์ และสามารถใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์ได้อย่างคล่องแคล่ว ตลอด 3 สัปดาห์ นักเรียนกลุ่มนี้เข้ามาใช้งานอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นในทุกสัปดาห์
โดยระยะเวลาการเข้าใช้แอปรวมในสัปดาห์ที่ 3 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ 2 ถึง 43% ทั้งยังมียอดการทำแบบฝึกหัดโดยเฉลี่ยมากขึ้นถึง 14.8% สำหรับเด็กกลุ่มนี้ สตาร์ทดี จึงมีฟีเจอร์ “My StartDee“ รายงานผลการเรียนของผู้ใช้แต่ละคน พร้อมกับฟีเจอร์ “ตะลุยโจทย์“ ให้ผู้เรียนเข้าไปตะลุยโจทย์เสริมสร้างความเข้าใจได้อย่างเต็มที่
กลุ่มที่สอง คือ Active Learner เป็นผู้เรียนกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด มีมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ใช้ทั้งหมด ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการเข้ามาใช้งานอย่างต่อเนื่อง แต่ยังใช้เวลาเรียนในแอปพลิเคชันไม่มากนัก โดยน้อง ๆ ส่วนใหญ่ยังคุ้นเคยกับการเรียนที่ได้พบเจอ และมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน แต่ก็พร้อมเปิดรับแพลตฟอร์มออนไลน์
และใช้เป็นแหล่งข้อมูลเสริมในการทบทวนเนื้อหาที่โรงเรียน และทำความเข้าใจกับบทเรียนที่ยังไม่เข้าใจ เพื่อตอบโจทย์การเรียนออนไลน์ของเด็กกลุ่มนี้ สตาร์ทดี จึงมีฟังก์ชันการค้นหา เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนเฉพาะบทเรียนที่สนใจได้ตามความต้องการ
นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์ “กระทู้ถามตอบ“ ที่เปิดให้ผู้เรียนสามารถมีปฏิสัมพันธ์ในการเรียนร่วมกัน และถาม-ตอบคำถามระหว่างกันในแอปได้ เสมือนมีเพื่อนเรียนอยู่ด้วยกันตลอด
กลุ่มสุดท้าย คือ Passive Learner เป็นนักเรียนกลุ่มที่เข้ามาลงทะเบียนเรียนและทดลองใช้แอปพลิเคชันแล้ว แต่ยังขาดการเข้ามาใช้งานอย่างต่อเนื่อง เด็กกลุ่มนี้ใช้เวลาในการเรียนต่อสัปดาห์ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับสองกลุ่มก่อนหน้า ทั้งยังมองว่าการเรียนออนไลน์เป็นรูปแบบการเรียนที่น่าเบื่อ
เน้นใช้งานออนไลน์แพลตฟอร์มเพื่อหาความบันเทิง เช่น เล่นเกม หรือรับชมคลิปบนยูทูปเป็น เพื่อจูงใจเด็กกลุ่มนี้ และเปลี่ยนแนวคิดว่าการเรียนออนไลน์ก็เป็นเรื่องสนุกได้ สตาร์ทดี จึงออกแบบการใช้งานแอปให้มีความเป็นเกม (Gamification)
พร้อมเสนอฟีเจอร์ “StartDee World“ ให้ผู้เรียนได้สะสมเหรียญรางวัล เมื่อทำแบบทดสอบหรือภารกิจประจำวันสำเร็จ ซึ่งสามารถนำไปใช้ตกแต่งตัวละครร่วมกันกับเพื่อนได้อีกด้วย ทั้งนี้ สตาร์ทดี มุ่งนำ Big Data มาใช้ทำความเข้าใจผู้เรียน ออกแบบ และปรับปรุงบทเรียนออนไลน์ให้ตอบโจทย์เด็กนักเรียนไทยได้ดียิ่งขึ้นอยู่เสมอ ด้วยความเชื่อมั่นว่า การศึกษาที่ดี ต้องพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง
- สามารถเรียนออนไลน์กับแอปพลิเคชันด้านการศึกษา “สตาร์ทดี“ เพียงกดดาวน์โหลดได้ที่ App Store และ Play Store
- รายละเอียดเพิ่มเติม www.facebook.com/startdeethailand และ http://startdee.com
ส่วนขยาย * บทความเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์ในมุมมองที่น่าสนใจ ** เขียน: ชลัมพ์ ศุภวาที (บรรณาธิการ และผู้สื่อข่าว) *** ขอขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก www.pexels.com
สามารถกดติดตามข่าวสารและบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่ www.facebook.com/itday.in.th