TGA ร่วมกับ 2 หน่วยงาน เดินหน้าจัดงาน Thailand Game Festival 2024

TGA

ทีจีเอ (TGA) ร่วมกับ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านเกม และ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เดินหน้าจัดงาน “Thailand Game Festival 2024” มหกรรมรวมพลคนทำเกมเวทีระดับชาติหนุนอุตสาหกรรมเกมไทยเพิ่มความแข็งแกร่งสู่สากล…

highlight

  • สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย (TGA)  ร่วมกับ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านเกม และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จับมือจัดงาน “ไทยแลนด์ เกม เฟสติวัล 2024” (Thailand Game Festival 2024) มหกรรมรวมพลคนทำเกม เวทียิ่งใหญ่ระดับชาติที่พร้อมส่งเสริม และพัฒนาศักยภาพนักพัฒนาเกมไทยให้ก้าวไกลระดับโลก

TGA ร่วมกับ 2 หน่วยงาน เดินหน้าจัดงาน Thailand Game Festival 2024 หนุนนักพัฒนาเกมไทยให้ก้าวไกลระดับโลก

TGA
เนนิน อนันต์บัญชาชัย นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย

เนนิน อนันต์บัญชาชัย นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมเกมไทยถือเป็นสิ่งที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังจับตา ทั้งจากปัจจัยด้านจำนวนเกมที่เพิ่มมากขึ้นแบบก้าวกระโดดที่มาควบคู่กับคุณภาพ ส่งผลให้ทั่วโลกเห็นถึงศักยภาพของไทยในฐานะแหล่งพัฒนาอุตสาหกรรมเกมแบบครงวงจร

โดยในปี 2566 ไทยมีจำนวนผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมเกมจำนวน 90 ราย (ข้อมูลจาก depa: สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล) โดยแบ่งผู้ประกอบการได้เป็น 3 ประเภท คือ ธุรกิจการผลิตงานโดยมีทรัพย์สินทางปัญญาของตนเอง (IP Owner) รวม 45 บริษัท

เป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่มีการพัฒนาเกม และปล่อยเข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นจากโครงการสนับสนุนและมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ, ธุรกิจการรับจ้างผลิตผลงานภายใต้ลิขสิทธิ์ของผู้อื่น (Outsource Service Provider) รวม 21 บริษัท

ที่ตอบโจทย์ในปัจจุบันที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่นิยมเลือกใช้การจ้างงานแบบ freelance ที่มีความสะดวก ราคาสมเหตุสมผล และมีความยืดหยุ่นในการทำงานได้มากกว่าการจ้างงานในรูปแบบบริษัท และธุรกิจการจำหน่ายนำเข้า และเป็นตัวแทนจำหน่าย (Distributor and Importer) รวม 24 บริษัท 

TGA

“อุตสาหกรรมเกมไทยมีพัฒนาการเป็นที่น่าพอใจ โดยเฉพาะกลุ่มผู้พัฒนาเกมอินดี้ที่จำหน่ายอยู่บนสตรีม เกมพีซีต่างๆ ที่มีคุณภาพจนสามารถคว้ารางวัลระดับนานาชาติมาได้จากหลายเวที ส่งผลให้มีจำนวนเกมที่พัฒนาใหม่ป้อนสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้นเป็น 2 เท่าในแต่ละปี โดยในปี 2566 ประเทศไทยมีจำนวนเกมบนสตรีมมากที่สุด

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งหากเทียบศักยภาพระหว่างผู้พัฒนาเกมไทย และในภูมิภาคพบว่า เราเองมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาก ซึ่งจุดแข็งของไทยที่ได้รับการยอมรับคือความคิดสร้างสรรค์ มีอาร์ทติสที่มากประสบการณ์ มี eco system ที่พร้อมในการสร้างสรรค์เกม

แต่อาจมีจุดอ่อนในด้านภาษา และมุมมองในเชิงธุรกิจที่ทำให้เสียโอกาสในการนำเสนอในเวทีต่างชาติ รวมถึงการร่วมพัฒนางานกับต่างประเทศซึ่งต้องปรับให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต ซึ่งทาง TGA ยังคงเดินหน้าแผนพัฒนาบุคลากรเพื่อป้อนสู่อุตสาหกรรมเกม โดยได้ร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อหารือแนวทางที่เหมาะสมในการพัฒนาบุคลากร

และการพัฒนาแผนงานที่ชัดเจน ปัจจุบันมีการริเริ่มโครงการหลักสูตรออนไลน์ การตั้งโปรแกรม Accelerator การจัดกิจกรรม Talent Showcase เพื่อให้กลุ่มคนรุ่นใหม่นักเรียนนักศึกษา ได้มีเวทีในการนำเสนอโปรเจคเกมและสนับสนุนทุนในการพัฒนาในเกิดเป็นรูปธรรม

เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและสอนการทำงานโครงการร่วมกันเป็นทีม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมเกมที่เป็นองค์ความรู้พื้นฐานที่มีความต้องการเสมอ และนำนักพัฒนาเกมไทยร่วมออกบูธในเวทีสำคัญ ๆ ในอาเซียนเพื่อสร้างให้เกมไทยเป็นที่รูจักมากยิ่งขึ้น” เนนิน กล่าว

ทั้งนี้ ความพยายามในการพัฒนาเกมแบบ Cultural Game เพื่อสะท้อนอัตลักษณ์และคุณค่าทางวัฒนธรรมของไทยถือเป็นไฮไลต์สำคัญของอุตสาหกรรม โดยเกม Home Sweet Home จาก YGG Games ได้ช่วยสร้างชื่อเสียงให้กับวงการเกมไทยในหมู่คนเล่นเกมไทยมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี

อย่างไรก็ตาม ไทยก็ยังขาดความหลากหลายในการนำเสนอสินค้าวัฒนธรรมผ่านสื่อเกม ซึ่งทางภาครัฐเล็งเห็นความสำคัญต่อประเด็นนี้ และจัดให้มีงาน Thai Idea Jam ขึ้นในปีนี้เป็นปีแรก นำโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

กำกับดูแล และส่งเสริมอุตสาหกรรมเกมในไทย

TGA

“เป้าหมายหลักของการงาน “ไทยแลนด์ เกม เฟสติวัล 2024” คือการผนึกพลังอุตสาหกรรมเกมในไทยให้เกิดการพัฒนาและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยการสร้างเกมที่มีคุณภาพ ทั้งยังมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้เกิดเกมใหม่ ๆ ที่สะท้อนอัตลักษณ์ของวัฒนธรรมไทยที่ต้องผสานทั้งความสนุก และส่งเสริมด้านวัฒนธรรมให้เป็นที่รู้จัก

แก่นานาประเทศในรูปแบบ Soft Power ซึ่งมั่นใจว่าความแตกต่างอย่างมีเอกลักษณ์นี้จะทำให้เกมไทยเติบโตได้ในทุกมุมโลก แต่สิ่งสำคัญที่ถือเป็นพลังหลักในการพัฒนาอุตสาหกรรมเกมไทยคือการส่งเสริมจากภาครัฐ ทั้งด้านการผลักดันพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พัฒนาอุตสาหกรรมเกม เพื่อปรับโครงสร้างการกำกับดูแล

และส่งเสริมอุตสาหกรรมเกมในประเทศไทย ให้เกิดความได้เปรียบด้านการแข่งขัน รวมทั้งส่งเสริมให้เกิด Soft Power เกมไทยที่แข็งแรง ส่งผลภาพรวมอุตสาหกรรมเกมเติบโตอย่างแข็งแกร่ง นอกจากนี้ ยังต้องการให้รัฐประชาสัมพันธ์เกมไทยให้เป็นที่รู้จักในตลาดต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น” เนนิน สะท้อนถึงเป้าหมายในอนาคต

ส่วนขยาย

* บทความเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์ในมุมมองที่น่าสนใจ 
** เขียน: ชลัมพ์ ศุภวาที (บรรณาธิการ และผู้สื่อข่าว) 
*** ขอขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก N/A

สามารถกดติดตามข่าวสาร และบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่  www.facebook.com/itday.in.th

ITDay