ซีดีจี (CDG) และ มจพ. (KMUTNB) แก้โจทย์คนทำงานขาดทักษะคิดวิเคราะห์จับมือศูนย์การเรียนปัญญาภิวัฒน์ ผลักดันโค้ดดิ้งสู่ห้องเรียนธุรกิจค้าปลีก…
highlight
- กลุ่มบริษัทซีดีจี ร่วมมือกับภาควิชาคอมพิวเตอร์ศึกษา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนโค้ดดิ้ง “โครงการพัฒนาศักยภาพ และวางรากฐานสมองผ่านกระบวนการโค้ดดิ้ง” สำหรับนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประเภทวิชาพาณิชยกรรม สาขาวิชาธุรกิจค้าปลีก สาขางานธุรกิจค้าปลีกร้านสะดวกซื้อ
- มุ่งเน้น 3 ทักษะ ความคิดเชิงตรรกะ (logical thinking) การจัดการปัญหา (problem-solving) และความคิดสร้างสรรค์ (creativity) วางรากฐานแนวคิดเชิงวิเคราะห์ และประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม พัฒนากระบวนการทำงาน และวางแผนธุรกิจระยะสั้น ระยะยาว อย่างมีกลยุทธ์
- 60% บุคลากรจบใหม่ยังขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ (critical thinking skills) ทักษะสำคัญที่องค์กรต้องการ เตรียมผุดงานวิจัยต่อยอดการพัฒนากระบวนการคิดของเด็กไทยด้วยโค้ดดิ้ง
CDG และ มจพ. จับมือศูนย์การเรียนปัญญาภิวัฒน์ ผลักดันโค้ดดิ้งสู่ห้องเรียนธุรกิจค้าปลีก
นาถ ลิ่วเจริญ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทซีดีจี เปิดเผยว่า จากความร่วมมือทางวิชาการระหว่างโครงการ CDG Code Their Dreams และภาควิชาคอมพิวเตอร์ศึกษา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จัดหลักสูตรการสอนทักษะการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์
และการประยุกต์ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ และเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ถ่ายทอดการเรียนการสอนด้านโค้ดดิ้ง และทักษะด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์อื่น ๆ ให้กับนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ และบุคคลทั่วไป ตั้งแต่ปี 2562 ล่าสุดได้จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพ และวางรากฐานสมองผ่านกระบวนการโค้ดดิ้ง สำหรับนักเรียนระดับชั้นปวช.
ศูนย์การเรียนปัญญาภิวัฒน์ มุ่งพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ นำไปปรับใช้ในการวางแผนงานธุรกิจได้จริง เพื่อสร้างบุคลากรคุณภาพที่ตรงต่อความต้องการสู่ตลาดแรงงานตอบรับกับผลสำรวจของ Harvard Business Review เผยกว่า 60% บุคลากรจบใหม่ยังขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ (critical thinking skills)
ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่องค์กรต้องการ ทั้งนี้ ทางโครงการฯ มีแผนต่อยอดพัฒนางานวิจัย เพื่อส่งเสริมทักษะความคิดสร้างสรรค์ และความคิดวิเคราะห์ผ่านการเรียนการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะเป็นการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
“โครงการ CDG Code Their Dreams มีเป้าหมายในการปั้นบุคลากรด้านโค้ดดิ้งสู่ตลาดแรงงาน ทักษะสำคัญที่ตลาดมองหา โดยนอกจากจะช่วยเพิ่มความรู้ความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยีโดยทั่วไปแล้ว การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ยังเป็นภาษาสากลที่นับเป็นภาษาที่ 3 ที่ทำให้เกิดผลผลิตของนวัตกรรม
ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 7,000 ราย แบ่งเป็นนักเรียนที่ร่วมกิจกรรมตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงอุดมศึกษากว่า 4,898 ราย ครูและอาจารย์ 1,995 ราย โรงเรียนที่ร่วมกิจกรรม 30 แห่ง ช่วยจุดประกายทางความคิดให้คนรุ่นใหม่นำไปต่อยอดในอนาคต
สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อนำไปพัฒนาประเทศ ด้วยความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเพื่อสานต่อโครงการต่อไป” นาถ กล่าว
เสริมการเรียนรู้ด้านกระบวนการคิดวิเคราะห์ด้วยกิจกรรม CDG Code Their Dreams
ดร.วิทวัส ทิพย์สุวรรณ รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า โครงการพัฒนาศักยภาพ และวางรากฐานสมอง มุ่งเน้นพัฒนาทักษะ 3 ส่วน คือ ความคิดเชิงตรรกะ (logical thinking) การจัดการปัญหา (problem-solving)
และความคิดสร้างสรรค์ (creativity) ผ่านการเรียนการสอนที่ฝึกฝนการวิเคราะห์ขั้นตอนการทำงาน และทักษะการแก้ปัญหา โดยเน้นไปที่ความคิด ลงมือทำและนำเสนอ ด้วยโปรแกรมหลักในการเรียนการสอนอย่าง Scratch ที่เป็นโปรแกรมพื้นฐานในการคิดเชิงตรรกะ
และมีการเสริมการเรียนรู้ด้านกระบวนการคิดวิเคราะห์ด้วยกิจกรรมฐานจาก CDG Code Their Dreams หวังช่วยกระตุ้นให้เด็กเห็นความสำคัญของโค้ดดิ้งเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพกระบวนการทำงาน เสริมศักยภาพการวางแผนงาน แก้โจทย์ปัญหาธุรกิจ ช่วยการวางแผนระยะสั้น ระยะยาว อย่างมีกลยุทธ์
ด้าน วัฒนะ เผือกเสริฐ รองผู้จัดการทั่วไป บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า เป็นความตั้งใจของเราที่จะสร้างอัตลักษณ์เยาวชนคนรุ่นใหม่ หรือบุคลากรในอนาคตที่สามารถคิดและสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยหลักการคิดวิเคราะห์ผ่านการเรียน Coding
โดยนักเรียนสามารถใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีในการวางแผน วิเคราะห์ และสร้างสรรค์นวัตกรรมทางธุรกิจของบริษัทฯ และธุรกิจส่วนตัว มีมุมมองด้านอาชีพและด้านการตลาดบนพื้นฐานแนวคิดเชิงวิเคราะห์ เป็นพลเมืองของประเทศ
และพลเมืองของโลกที่มีคุณภาพ สมดุลกับการเจริญก้าวหน้าของเศรษฐกิจ เทคโนโลยี สังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ส่วนขยาย * บทความเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์ในมุมมองที่น่าสนใจ ** เขียน: ชลัมพ์ ศุภวาที (บรรณาธิการ และผู้สื่อข่าว) *** ขอขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก N/A
สามารถกดติดตามข่าวสารและบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่ www.facebook.com/itday.in.th